1. โรคโคนเน่า (Damping off) เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia spp. พบในระยะต้นกล้าเท่านั้น ซึ่งเชื้อนี้อาจติดมากับเมล็ด หรือตกค้างอยู่กับดินเพาะเมล็ด ทำให้โคนต้นกล้าเน่าและตายจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยใช้ยาพวกเทอราคลอร์ เทอราโซล และอบดินฆ่าเชื้อก่อนการเพาะเมล็ด
  2. โรคเหี่ยวเฉา (Fusarium Wilt) เกิดจากเชื้อรา (Fusarium conglatinan callistephus) พบมากและร้ายแรงที่สุดในแปลงที่เคยปลูกเบญจมาศมาก่อน ต้นที่เป็นโรคจะมีอาการเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว ปรากฏมากในระยะที่แอสเตอร์โตเต็มที่หรือก่อนออกดอกเชื้อจะเข้าทำลายส่วนล่างของลำต้น โดยจะปรากฏเป็นสีส้มตรงโคนต้นใกล้พื้นดิน หากตัดลำต้นที่ปรากฏเป็นโรคนี้ตามขวาง จะพบว่ามีวงแหวนสีน้ำตาลแดงอยู่ใน บริเวณท่อส่งน้ำและอาหาร การป้องกันทำได้โดยใช้สารกันเชื้อรา เช่น เทอราคลอร์ราดในดินก่อนปลูก
  3. โรครากปม (Root Knot) แอสเตอร์ที่ปรากฏอาการของโรครากปมนี้มักไม่ตาย เพียงแต่ต้นไม่เจริญเติบโตตามปกติ มีลักษณะแคระแกรน ในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจัดจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา และจะฟื้นตัวในตอนกลางคืน ถ้าถอนต้นดูจะพบว่าตรงบริเวณรากจะบวมและเป็นปมเล็ก ๆ เนื่องจากมีไส้เดือนฝอยชนิดหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่หากปล่อยไว้รากจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือดำ ผุและเปื่อยเร็วกว่าปกติ ไส้เดือนฝอย สามารถแพร่ระบาดได้โดยทางน้ำ ติดไปกับดิน หรือต้นที่เป็นโรค และเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร การป้องกันโดยใช้เทมมิค 10 จี, ฟูราดาน, หรือคูราแทร์ฝังดิน
  4. โรคดอกสีเขียวพบว่าดอกจะมีสีเขียว ขอบกลีบดอกมีสีแดงปะปน ต้นแคระแกรนกว่าปกติเล็กน้อย รูปร่างของดอกไม่เปลี่ยนแปลงโรคนี้เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma) จากวัชพืชโดยเพลี้ยจั๊กจั่น
  5. โรคราสนิม (Rust) เกิดจากเชื้อรา พบว่าระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือวันที่มีน้ำค้างมาก และเกิดกับต้นขณะที่กำลังออกดอก ที่ใต้ใบพบว่ามีสีส้มคล้ายสนิมเหล็ก การป้องกัน เวลารดน้ำ ควรระวังอย่าให้น้ำถูกต้นและใบ เพราะจะทำให้เชื้อรานี้ระบาดได้ง่าย ใช้สารประกอบของกำมะถัน หรือเฟอเมทฉีด พ่นเป็นครั้งคราว
  6. เพลี้ยอ่อน (Aphids) เป็นแมลงปากดูด ชอบเกาะเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนอ่อนของต้น ทำให้เป็นสาเหตุของดอกและใบบิดเบี้ยว การป้องกันกำจัดฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดมดซึ่งเป็นพาหะของเพลี้ยอ่อน
  7. เพลี้ยไฟ (Trips) เป็นแมลงซึ่งทำอันตรายแก่ใบอ่อนของแอสเตอร์ ทำให้ใบมีอาการหงิกงอ เพลี้ยไฟนอกจากจะทำลายแอสเตอร์โดยตรงแล้ว ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเหี่ยว (Spotted Wilt) แก่ต้นแอสเตอร์อีกด้วย การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี โตกุไธออน ฉีดพ่นทุก 1-2 สัปดาห์ หรือเมื่อปรากฏมีเพลี้ยไฟนี้ นอกจากนั้นยังอาจใช้เซฟวิน เคลเทน และมาลาไธออนกำจัด
  8. ไรแแดง (Spider Mite) ชอบทำลายยอดอ่อนทำให้ดอกไม่สมบูรณ์ มีลักษณะแคระแกรน บางครั้งพบว่าทำลายใบโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากใบทำให้ใบร่วง การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เช่น เคลเทน ฉีดพ่นเมื่อปรากฏพบ
  9. หนอนเจาะดอกจะเข้าทำลายโดยกัดกินดอกอ่อน และเมล็ดอ่อน ทำให้ดอกเสียหาย เมล็ดไม่สมบูรณ์และเปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อยลง การป้องกันจำกัด ใช้สารเคมี เช่น อโซดริน มาลาไธออน แลนเนท เซฟวิน 85 ฉีดพ่นทุก 1-2 สัปดาห์