เบญจมาศขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด, แยกหน่อ, ต่อกิ่ง, ปักชำ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่วิธีที่นิยมใช้กันมากมี 2 วิธี คือ
1. ปักชำกิ่งยอด โดยนำกิ่งแขนงจากต้นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลง ตัดกิ่งยาว 2.5 นิ้ว ด้านปลายกิ่งเฉือนเป็นรูปปากฉลาม และปลิดใบล่างออกเพื่อไม่ให้ใบเน่าและเกิดโรค ควรจุ่มยากันรา เช่น ไดเทน เอ็ม 45 โอโธไซด์ และเพื่อให้รากออกเร็วให้นำกิ่งเบญจมาศที่จะปักชำจุ่ม ฮอร์โมนเร่งรา ก เช่น เซอร์ราดิก เบอร์ 2 ผึ่งให้แห้งแล้วจึงนำมาปักชำในวัสดุปักชำที่โปร่ง ระบายน้ำ อากาศและเก็บความชื้นได้ดี เช่น ทรายหยาบ, แกลบดำ, ขุยมะพร้าว หรือ ทรายหยาบผสมกับขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 1 : 1 โดยใช้ระยะปักชำ 2X1 นิ้ว ปักให้โคนกิ่งลึกลงไปในวัสดุปักชำ 0.5-1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงแตกรากใหม่ หลังจากนั้นย้ายกิ่ง ปักชำลงวัสดุปลูกหรือลงแปลง การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก และ การใช้กิ่งปักชำที่มีขนาดสม่ำเสมอเมื่อนำต้นเบญจมาศที่ได้ไปปลูกจะสามารถออกดอกได้ในเวลาใกล้เคียงกัน

        

2. การแยกหน่อ วิธีนี้เหมาะกับพันธุ์เบญจมาศที่แตกหน่อได้ดี เมื่อเบญจมาศให้ดอกแล้วต้นจะแตกกอและมีหน่อจำนวนมาก แต่ละหน่อจะมีรากติดอยู่ซึ่งสามารถแยกหน่อมาปลูกลงแปลงได้ต้นที่แข็งแรงและมีการเจริญเติบโตดีกว่ากิ่งปักชำ