การเตรียมดิน : ควรทำในฤดูแล้ง โดยขุดพลิกหน้าดินตากแดดไว้ 2 สัปดาห์ ย่อยดินเก็บวัชพืชออก และโรยปูนขาว เพื่อปรับสภาพดิน ดินที่เหมาะสำหรับปลูกเบญจมาศควรมี pH ประมาณ 6 ถ้าเป็น พื้นที่ที่เคยปลูกมาก่อนควรอบดินด้วยเมธิลโบรไมด์ หรือบาซามิคจี เพื่อฆ่าเชื้อโรคและไข่แมลงในดิน การปลูกเบญจมาศในที่ลุ่มน้ำท่วมถึงและเป็นดินเหนียว ระบายน้ำไม่ดีควรยกร่องปลูก โดย ขนาดแปลงกว้าง 5 เมตร ให้ร่องน้ำกว้าง 1 เมตร ลึก 60 ซม. ส่วนหากปลูกในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องยกร่องสูง แต่ควรให้แปลงสูง 15-20 ซม. ขนาดแปลงกว้าง 1.20 เมตร และทางเดินกว้าง 80 ซม.
การปลูก : เลือกกิ่งหรือหน่อที่มีขนาดและความสมบูรณ์ใกล้เคียงกันปลูกในแปลงเดียวกัน เพื่อให้ ง่ายต่อการปฏิบัติบำรุงรักษาและสามารถตัดดอกได้พร้อมกัน ปลูกลึกประมาณ 3/4 นิ้ว หากปลูกลึกเกินไปรากจะเจริญไม่ดีเพราะขาดอากาศ สำหรับระยะปลูกถ้าเป็นการปลูกแบบไม่เด็ดยอดใช้ ระยะปลูก 12.5x12.5-15x15 ซม. ส่วนการปลูกแบบเด็ดยอดใช้ระยะปลูก 15x20-20x20 ซม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของสายพันธุ์ที่ใช้
การเด็ดยอด : นิยมเด็ดยอดกิ่งชำภายหลังการปลูกประมาณ 7 วัน แล้วเลี้ยงกิ่งแขนงไว้ 3 กิ่ง ซึ่งกิ่งชำ 1 ต้น จะผลิตดอกได้ 3 ดอกหรือ 3 ช่อ ขึ้นกับว่าเป็นการปลูกชนิดดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ โดยถ้า เป็นเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยวควรเหลือกิ่งแขนงไว้ 2 กิ่ง และประเภทดอกช่อสามารถเลี้ยงไว้ 3 กิ่ง แขนงได้ แทนการปลูกแบบไม่เด็ดยอด ซึ่งจะได้เพียง 1 ดอก หรือ 1 ช่อต่อต้น นอกจากจะเป็นการ ลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับต้นให้แตกกิ่งให้มากขึ้น ทำให้ได้จำนวนดอก เพิ่มขึ้นตามจำนวนกิ่งและยังได้ดอกที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ควรมีการพยุงต้นให้ตรง เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี โดยใช้ตาข่ายไนล่อนขนาดช่องเท่ากับระยะปลูกขึงเหนือแปลงปลูกให้ สูงจากพื้นดิน 30-50 ซม. เมื่อกิ่งแขนงเจริญออกไปได้เล็กน้อย ก็ขึงอีกชั้นให้สูงจากชั้นล่าง 30-50 ซม.
การใส่ปุ๋ย
เมื่อกิ่งชำตั้งตัวแล้วควรเริ่งให้มีการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต 1-2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร รด 2 ครั้งห่างกัน 7-10 วัน และใช้ปุ๋ย 15-15-15 โรยตามร่องระหว่างแถวทุก 15 วัน เมื่อเกิดตาดอกให้ใช้ปุ๋ยอัตรา 1:2:1 เช่นสูตร 12-24-12 และเสริมด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรอง เพื่อเร่งการออกดอก เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ควรงดการให้ปุ๋ย เพื่อให้ดอกมีคุณภาพดี แต่ก่อนตัดดอก 5-7 วัน ควรใช้โปแตสเซียมคลอไรด์ 1 ช้อนแกงละลายน้ำ 20 ลิตร รดที่ต้นเพื่อช่วยให้ก้านดอกแข็งแรงและดอกบานทนขึ้น
การเด็ดดอกข้างและการเด็ดดอกที่ยอด
เพื่อให้ดอกเบญจมาศมีคุณภาพดีมีขนาดใหญ่จึงต้องมีการเด็ดดอกข้างในเบญจมาศที่ปลูกเพื่อให้ได้ 1 ดอกต่อ 1 ต้น ต้องปลิดดอกข้างออกให้หมด โดยหงายมือขึ้นสอดง่ามมือระหว่างนิ้วชี้และ นิ้วกลางเข้าที่กิ่งที่ต้องการปลิดดอกข้างทิ้งและใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่ดอกตูมเข้าหาตัวดอกก็จะหัก และเริ่มเด็ดจากโคนกิ่งไปจนถึงยอด ส่วนเบญจมาศชนิดดอกช่อ จะเด็ดดอกแรกที่ส่วนยอดของลำต้นทิ้งโดยเด็ดตั้งแต่ตาดอกมีขนาดประมาณหัวไม้ขีดไฟ