โรคระบาดไก่ที่สำคัญ

โรคที่ต้องใช้วัคซีนป้องกัน ได้แก่ โรคนิวคาสเซิลโรคฝีดาษ โรคอหิวาต์ โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ไก่มักจะเป็นโรคเหล่านี้เป็นประจำ เกษตรกรจึงควรใช้วัคซีนป้องกันโรคตามตารางที่กำหนด
โรคพยาธิ ได้แก่ โรคพยาธิภายนอก โรคพยาธิไส้เดือนของไก่ โรคพยาธินัยน์ตาไก่

โรคนิวคาสเซิล

เป็นโรคระบาดไก่ที่ร้ายแรงที่สุด มีระบาดทั่วไป ถ้าเกิดขึ้นในฝูงใดมักจะทำให้ตายหมดเล้า ในไก่ใหญ่ทำให้ไข่ลด

อาการ ไก่ที่เป็นโรคนิวคาสเซิล

ปกติจะแสดงอาการป่วยหลังได้รับเชื้อโรคเป็นเวลา 3-6 วัน โดยแสดงอาการหายใจลำบาก มีเสียงดังในเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล ท้องเสีย กระตุก คอบิด ขาและปีกเป็นอัมพาตใช้การไม่ได้ บางรายอุจจาระร่วงเป็นสีเขียว แม่ไก่ที่กำลังไข่จะหยุดไข่ทันที และมักตายภายใน 1 อาทิตย์
ไก่ที่หายจากโรคนี้มักจะพิการ คอบิด ขาและปีกใช้งานไม่ได้ดี และจะเป็นตัวอมโรคต่อไป

สาเหตุและการติดต่อ สาเหตุการติดต่อโรคนิวคาสเซิล

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคเป็นไปรวดเร็วมากดังนี้
- ติดต่อกันโดยตรงในไก่ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน กินน้ำและอาหารร่วมกัน
- ติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ คนและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจนนก หนู และแมลงวัน ก็เป็นตัวนำโรคได้
- จากการชำแหละไก่ที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้ ซึ่งในซากไก่จะมีเชื้อโรคอยู่ในปริมาณสูงมากพอที่จะแพร่ระบาดไปยังไก่ตัวอื่น ๆ ในเล้าและไก่บริเวณใกล้เคียงได้

การป้องกัน

โดยการใช้วัคซีนป้องกันซึ่งมี 2 ชนิด ด้วยกันคือ ชนิดหยอดจมูก และชนิดแทงปีกซึ่งใช้กับไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป

การใช้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล

ชนิดวัคซีนอายุไก่วิธีให้ ขนาดวัคซีนระยะคุ้มโรค
ชนิดหยอดจมูก1-7 วันหยอดจมูก 1-2 หยดระยะสั้น ควรให้ครั้งที่สองเมื่อไก่อายุ 21 วัน
ชนิดหยอดจมูก21 วันหยอดจมูก 1-2 หยดควรให้วัคซีนนิวคาสเซิลชนิดแทงปีกอีกครั้ง
เมื่อไก่อายุ 3 เดือน
ชนิดแทงปี3 เดือนใช้เข็มคู่แทงผนังปีก
(ระวังอย่าให้ถูกเส้นเลือด)
1 ครั้ง6 เดือน

ขั้นตอนการใช้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล


วัคซีนชนิดหยอดจมูกและเครื่องมือ

วัคซีนชนิดแทงปีก

ผสมวัคซีนด้วยน้ำยาละลาย

ใช้เข็มแทงปีกจุ่มวัคซีน

หยอดจมูก

ตำแหน่งแทงปีก
โรค


โรคฝีดาษไก่

เป็นโรคระบาดที่พบได้มากในลูกไก่และไก่รุ่น นอกจากนี้นกพิราบก็เป็นโรคนี้ได้ ติดต่อได้รวดเร็วมาก มักจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

อาการ โรคฝีดาษไก่

หลังจากไก่ได้รับเชื้อโรคแล้วประมาณ 1 อาทิตย์จะแสดงอาการ ซึ่งอาจพบได้ 2 ลักษณะคือ
1. เกิดตุ่มฝีดาษลักษณะคล้ายหูด เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่น บริเวณหน้า หงอน เหนียง หนังตา และขา ระยะแรกเป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ ต่อมาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้งและลอกหลุดออกไป
2. ตุ่มฝีดาษชนิดที่เป็นแผลเกิดขึ้นในลำคอ ทำให้กินอาการลำบาก น้ำลายไหลยืด มีกลิ่นเหม็น เป็นมาก ๆ จะทำให้แก่ตายได้

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้หลายทา งดังนี้
- ทางบาดแผล เช่น แผลที่เกิดจากถูกของมีคม แผลจากการจิกตีกันในฝูง
- ยุงเป็นพาหะที่สำคัญในการนำเชื้อโรคไประบาดในไก่ตัวอื่น ๆ โดยยุงกินเลือดสัตว์ป่วยในระยะที่มีเชื้อโรคอยู่ในกระแสเลือด เชื้อโรคก็จะเข้าไปอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดดูดเลือดไก่อีกตัวหนึ่งก็จะปล่อยเชื้อโรคเข้าไปทำให้ไก่เป็นโรค

การป้องกันและรักษา

1. ในการเลี้ยงลูกไก่เล็ก ควรระวังอย่างให้ยุงกัด
2. ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาตามตุ่มฝีที่เกิดขึ้นเพื่อลดการอักเสบของฝี และให้ยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กินติดต่อกัน 3-4 วัน
3. การทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่ ใช้เข็มแทงปีก โดยแทง 1 ครั้ง ทำกับไก่อายุ 1 อาทิตย์ขึ้นไป ไก่จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษได้นาน 1 ปี

ขั้นตอนการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ


วัคซีนและเครื่องมือ

ผสมวัคซีนด้วยน้ำยาละลาย

ใช้เข็มแทงปีกจุ่มวัคซีน

ตำแหน่งแทงปีก
โรค


โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่

เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน และนกอีกหลายชนิด ระบาดได้ทุกฤดูกาล

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้หลายทาง เช่น
- โดยกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป และติดต่อกันต่อไปในสัตว์ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน
- เชื้อโรคติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยง คน และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจน นก หนู ก็เป็นตัวนำโรคได้
- เป็ด-ไก่ที่เลี้ยงใกล้แหล่งน้ำ ซากเป็ด-ไก่ที่เป็นโรค และสิ่งขับถ่ายที่ตกลงในน้ำนั้น เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำได้
- จากการชำแหละเป็ด-ไก่ ที่ป่วยและตายด้วยโรค ซึ่งเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปสู่เป็ด-ไก่ตัวอื่น ๆ ในเล้าและเป็ด-ไก่บริเวณใกล้เคียงได้

อาการ

ถ้าเป็นอย่างร้ายแรงเป็ด-ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการให้เห็น ถ้าเป็นอย่างอ่อนไก่อาจจะป่วยเป็นแรมเดือน มีอาการหงอยซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลืองหรือเขียว หงอนและเหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ
ในรายที่เป็นอย่างเรื้อรัง เหนียงจะบวม บางตัวจะบวมที่ข้อขา ทำให้เดินไม่สะดวก

การป้องกันและรักษา โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่

1. การสุขาภิบาลสำคัญมากในการป้องกันโรค ต้องระวังความสะอาดภายในเล้าไก่ การสร้างโรงเรือนต้องโปร่ง เย็นสบาย ไม่อบอ้าว ไม่สกปรก
2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ เมื่อไก่อายุ 1-3 เดือนฉีดวัคซีนแทงเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวน 1 ซี.ซี. ไก่จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน หรือไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังเช่นกัน แต่ใช้จำนวน 2 ซี.ซี. ไก่ก็จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน และต้องทำซ้ำทุก 3 เดือน
3. การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาซัลฟาบางตัว ละลายน้ำให้ไก่กินติดต่อกั 2-3 วัน และควรหารือกับสัตวแพทย์ในท้องที่

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่


วัคซีนและเครื่องมือ

ดูดวัคซีน

ตำแหน่งฉีดวัคซีนในไก่

ตำแหน่งฉีดวัคซีนในเป็ด
โรค


โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ

เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ เกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่ในลูกไก่เล็กจะติดโรคนี้ได้ง่ายกว่า และตายมากกว่าในไก่ใหญ่

อาการ

ไก่แสดงอาการคล้ายเป็นหวัด โดยเฉพาะในลูกไก่จะมีอาการหายใจลำบาก อ้าปากเวลาที่หายใจ และมีเสียงดังครืดคราด ตาแฉะ หงอยซึม ลูกไก่มักตายเพราะหายใจไม่ออก เนื่องจากจะมีน้ำเมือกอุดในหลอดลม
ส่วนในแม่ไก่จะตายน้อยกว่า แต่มีผลกระทบต่อการไข่ ทำให้ไข่ลดลงอย่างรวดเร็ว คุณภาพของไข่เลวลง เช่น เปลือกไข่บาง นิ่ม ขรุขระ ไข่ขาวเหลวเป็นน้ำ ฟักออกเป็นตัวน้อย

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ไก่จะได้รับเชื้อโรคโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศ หรือการกินเอาเชื้อโรคที่ปนอยู่ในอาหารหรือน้ำเข้าไป

การป้องกัน

ในการป้องกันมิให้เกิดโรค มีข้อแนะนำ ดังนี้
1. อย่าเลี้ยงลูกไก่ต่างรุ่นปนเปกัน ควรเลี้ยงไก่เล็กให้อยู่ห่างจากไก่ใหญ่
2. หมั่นดูแลความสะอาดเล้าไก่ และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในเล้าไก่และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
3. อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี อาหารที่ไก่กินไม่หมดให้ทิ้ง อย่าปล่อยให้เน่าเสีย ควรกวาดล้างให้หมด
4. โรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า โดยใช้วัคซีนหยอดตาหรือหยอดจมูกลูกไก่เมื่ออายุได้ 2 อาทิตย์ และหยอดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน
โรค


โรคพยาธิภายนอก

พยาธิภายนอกได้แก่ เหา หมัด ไร ที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังและขนไก่ จะดูดเลือดและกัดกินผิวหนังและขนไก่ ทำความรำคาญทั้งกลางวันและกลางคืน ไก่ไม่มีความสุข สุขภาพไก่อ่อนแอ ซูบผอมลง โลหิตจางและความต้านทานโรคลดลง

การรักษา

รักษาโดยใช้ยากำจัดพยาธิภายนอกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น โรทิโนนมาลาไทออน ใช้ละลายน้ำฉีดพ่นบริเวณเล้าไก่และกรงไก่เป็นประจำ อย่าให้ถูกตัวไก่ แต่เวลาพ่นจะต้องระวังเพราะเป็นอันตราย โดยใช้มาลาไทออน 5% อาจใช้ละลายน้ำอย่างอ่อน ๆ ในขนาดเพียง 0.5% จุ่มไก่ลงในน้ำยาเพื่อฆ่าหมัดหรือไรตามตัวไก่
ยาที่ใช้ทั่ว ๆ ไป ได้แก่ โล่ติ๊น ทุบแช่น้ำให้น้ำขาวออก แล้วผสมน้ำลงไปพอประมาณ จับไก่ลงจุ่ม หรือจะใช้ยาผงสำเร็จรูปโรยตามตัวไก่โดยตรงก็ได้
อาจใช้ยาสูบอย่างฉุนแช่น้ำในปี๊บให้เข้มข้น แล้วจับตัวไก่จุ่มลงไป หรือจะตำยาสูบอย่างฉุนให้ป่น แล้วนำไปโรยตามรังไข่และบริเวณเล้าไก่ก็ได้
หรืออีกวิธีหนึ่ง ให้ทำที่เกลือกฝุ่น โดยนำกล่องสี่เหลี่ยมลึกประมาณ 1 คืบ ใช้ยาสูบอย่างฉุนตำให้ป่นเป็นแป้ง ผสมกับปูนขาว (หรือขี้เถ้า) และดิน ใส่ไว้ในลัง ราดน้ำให้ชุ่มนิดหน่อย เพราะไก่ชอบเกลือก วิธีนี้จะช่วยลดเหาและไรไก่ลงได้ ทั้งประหยัดและได้ผลดี
โรค


โรคพยาธิไส้เดือนของไก่

พยาธิไส้เดือนของไก่พบในไก่พื้นเมืองบ่อย ๆ พยาธิชนิดนี้จะทำอันตรายไก่ระหว่างอายุ 1-3 เดือนได้มาก ถ้าป้องกันมิให้ไก่เป็นพยาธินี้จนอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว อันตรายและความเสียหายจะมีน้อยลง
ไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระ เมื่อความร้อนและความชุ่มชื้นพอเหมาะ ไข่พยาธิจะเจริญเป็นระยะติดต่อ ซึ่งจะมีตัวอ่อนอยู่ภายใน ไก่จะติดพยาธิโดยกินไข่ระยะติดต่อเข้าไป
ไก่อายุ 1-3 เดือน เมื่อเป็นโรคพยาธิชนิดนี้จะมีอาการซูบผอม เบื่ออาหาร ขนหยอง ปีกตก เติบโตช้า ท้องเสีย ถ้ามีพยาธิมาก ลูกไก่อาจตายภายใน 10 วัน ในไก่ใหญ่จำนวนไข่ลดลงจนสังเกตุเห็นได้ชัด

การป้องกันและกำจัดพยาธิ

1. ทำความสะอาดคอก กวาดอุจจาระบ่อย ๆ แล้วนำไปทิ้งให้ไกลจากที่เลี้ยงไก่ หรือเอาไปใส่ถังไม้ 2 ชั้น ซึ่งระหว่างกลางใส่ขี้เลื่อยไว้และมีฝาปิด และทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ไข่พยาธิจะถูกทำลาย เอาอุจจาระไปใช้เป็นปุ๋ยได้
2. อย่าให้คอกชื้นแฉะ และพยายามให้คอกถูกแสงแดดเสมอ
3. การเลี้ยงลูกไก่บนตะแกรงลวดตาข่ายจะป้องกันพยาธิได้ดี
4. การรักษาพยาธิไส้เดือน ใช้ยาพวกปิปเปอราซีนชนิดแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก ต่อไก่ 1 กก. หรือใช้ผสมลงในอาหารให้ไก่กิน ในขนาด 0.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไก่อายุได้ 2-3 เดือน ไม่ควรให้อาหารมากเกินไป ควรผสมให้ไก่กินอาหารได้หมดในวันเดียว หรืออาจจะให้ไก่อดอาหารก่อนให้ยาก็ได้ เพื่อทำให้ไก่อยากกินอาหารมากขึ้นในวันที่ให้ยาถ่ายพยาธิ ต่อไปให้ซ้ำเป็นระยะ ๆ ทุก 3-4 เดือนจะช่วยให้ไก่แข็งแรงสมบูรณ์ หรือถ้าไม่สะดวกในการหาซื้อจะใช้ของที่มีอยู่ในพื้นบ้านก็ได้ โดยใช้หมากแข็งที่ใช้กิน นำมาแช่น้ำให้อ่อนตัว แล้วตำให้แหลก ปั้นให้เป็นเม็ดขนาดเมล็ดข้าวโพด ให้ไก่กินตัวละ 1 เม็ด
โรค


โรคพยาธินัยน์ตาไก่

พยาธินัยน์ตาไก่มักพบได้เสมอในไก่ที่เลี้ยงปล่อยให้หากินตามที่รก หรือในเล้าที่มีแมลงสาบอาศัยอยู่ จะพบว่า นัยน์ตาไก่จะมีพยาธิตัวเล็ก ๆ สีขาวยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร อยู่ในมุมตา ด้านหัวตาของไก่

สาเหตุ

แมลงสาบเป็นพาหะชั่วคราวที่พยาธิจะไปเจริญเติบโต จากไข่เป็นตัวอ่อนอยู่ภายในตัวแมลงสาบ เมื่อไก่กินแมลงสาบเข้าไป ก็จะติดโรคพยาธินี้ ตัวอ่อนพยาธิจะเคลื่อนตัวจากปากของไก่เข้าไปทางช่องจมูก แล้วเข้าไปในท่อน้ำตาไปสู่ที่หัวตา

อาการ

ไก่จะกะพริบตาบ่อย ๆ น้ำตาไหล ถูตากับหัวปีก พยาธิจะรบกวนตาไก่ ทำให้ตาอักเสบเป็นหนอง ตาบวมปิด และจะพบพยาธินัยน์ตาไก่ซ่อนอยู่ที่มุมตาด้านหัวตาของไก่

การป้องกันและรักษา

ต้องกำจัดแมลงสาบให้หมดไปจากบริเวณเล้าไก่ รักษาความสะอาดของเล้าไก่ และที่เก็บอาหาร อย่าให้รกรุงรังเป็นที่อาศัยของแมลงสาบได้
การรักษาโดยใช้ไม้พันสำลี เขี่ยเอาก้อนหนองที่นัยน์ตาออก แล้วใช้น้ำเกลือหรือน้ำมะเกลือคั้น หรืออาจใช้ยาฉุนแช่น้ำจนได้น้ำสีชาอ่อน ๆ หยอดนัยน์ตาไก่ แล้วเขี่ยเอาพยาธิออก หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนนิคอล เพื่อลดการอักเสบของตา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 2-3 วัน จนกว่าจะหายเป็นปกติ