การดูแลรักษา
  1. การถอนแยกและการใส่ปุ๋ย เมื่อต้นข้าวโพดมีอายุได้ 15 วัน หรือต้นมีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ให้ถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกเหลือหลุมละ 2 ต้น แล้วพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชพร้อมทั้งใส่ปุ๋ย โดยโรยข้างแถวปลูกห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ หลังจากนั้นจึงกลบปุ๋ยด้วยดินและพูนโคนต้นในคราวเดียวกัน สำหรับสูตรและอัตราส่วนปุ๋ยที่ใช้โรยข้างแถวปลูกจะแตกต่างกันดังนี้
    1.1 ในเขตภาคกลางตอนบน ใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 1-2 ช้อนโต๊ะต่อต้น
    1.2 ในเขตภาคกลางตอนล่าง ใช้ปุ๋ยสูตร 45-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 1 ข้อนโต๊ะต่อต้น หรือปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อต้น
    1.3 ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ปุ๋ยสูตร 45-0-0 อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อต้น หรือปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50-75 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อต้น

    สูตรและอัตราปุ๋ยที่ใช้รองก้นหลุมและโรยข้างแถวตามสภาพพื้นที่

  2. การให้น้ำ
    ถ้าปลูกในที่ส่วนผักควรให้น้ำวันละครั้ง (ยกเว้นวันที่ฝนตกหนัก) โดยวิธีการใช้แครงสาด หรือใช้เครื่องพ่นน้ำซึ่งมีท่อพ่นน้ำออก 2 ข้าง ส่วนในพื้นที่ที่เป็นที่ไร่ควรให้น้ำทุกวันเช่นกัน ถ้าทำไม่ได้ควรให้ 2 วันต่อครั้ง โดยใช้วิธีให้น้ำตามร่อง การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลุกจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวหมดสิ้น
  3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
    3.1 การป้องกันกำจัดวัชพืช นอกจากวิธีการใช้แรงคนถากถาง ในขณะที่ทำการถอนแยกและใส่ปุ๋ยเมื่อต้นข้าวโพดมีอายุ 15 วันแล้ว อาจใช้สารเคมีเช่นอาทราซีน หรืออะลาคลอร์ อัตรา 1 ลิตรต่อไร่ ฉีดคลุมแปลงหลังปลูก ข้าวโพดในขณะที่ดินยังเปียกและก่อนวัชพืชจะงอก
    ข้อควรระวัง ในการใช้สารเคมีอาจมีพิษตกค้างที่จะตามมาสำหรับพืชฤดูต่อไป เช่น ถ้าปลูกผัก หรือพืชตระกูลถั่วต่อจากข้าวโพดฝักอ่อน ก็ไม่ควรใช้อาทราซีน เป็นต้น
    3.2 การป้องกันกำจัดหนู ในบางพื้นที่อาจพบหนูมากัดกินเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะงอก และหลังงอกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวก็จะพบหนูมาทำความเสียหายเช่นกัน ในการป้องกันกำจัดอาจใช้ซิงค์ฟอสไฟด์ หรือราคูมิน ทำให้เป็นเหยื่อล่อให้หนูมากินแล้วตาย
    3.3 การป้องกันกำจัดแมลง เนื่องจากข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 45-60 วัน จึงมีแมลงศัตรูรบกวนน้อย แต่ถ้าพบแมลงศัตรูระบาดมากอาจใช้สารเคมีฉีดพ่นเป็นครั้งคราว โดยเลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสมกับชนิดและวงจรชีวิตของแมลงศัตรูนั้น ๆ ควรเป็นสารเคมีที่มีพิษตกค้างระยะสั้น และมีพิษตกค้างน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ในระยะที่ข้าวโพดยังเป็นต้นกล้า หากเกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง มักจะมีเพลี้ยไฟระบาดทำความเสียหาย ควรใช้ฟอสดริน กูซาไธออน เอ็นดริน หรือโฟลิดอล ฉีดพ่น โดยใช้ตามอัตราที่แนะนำในฉลากข้างภาชนะบรรจุ
    3.4 การป้องกันกำจัดโรค พบว่าโรคที่สำคัญและทำความเสียหายแก่ข้าวโพดฝักอ่อนมากที่สุดคือ โรคราน้ำค้าง แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการใช้ข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์สุวรรณ 1 พันธุ์สุวรรณ 2 และพันธุ์รังสิต 1 เป็นต้น แต่ถ้าใช้พันธุ์ข้าวโพดหวาน ควรใช้สารเคมีเอพรอน 75 คลุกเมล็ดก่อนปลูก
    ข้อควรระวัง ควรใช้สารเคมีตามอัตราและวิธีการที่กำหนดไว้ตามฉลากข้างภาชนะบรรจุอย่างเคร่งครัด และด้วยความระมัดระวัง