1. เมื่อเก็บฝักข้าวโพดฝักอ่อนแล้ว เกษตรกรควรรีบนำเข้าที่ร่ม หรือโรงเรือนที่มีการระบายอากาศที่ดี พยายามจัดวางให้ผลผลิตได้ระบายความร้อน ไม่ควรเก็บข้าวโพดฝักอ่อนไว้เป็นกองสูง ๆ และไม่ควรทิ้งไว้หลายวัน ถ้าเป็นไปได้ ควรนำมาลอกเปลือกออกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว
2. ในการขนส่งควรทำโดยเร็วที่สุด และไม่กองฝักข้าวโพดบนพื้นดิน หรือพื้นรถบรรทุกโดยตรง ควรใส่ในภาชนะ ข้าวโพดฝักอ่อนที่ปอกเปลือกแล้ว ควรบรรจุในกล่องกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติกที่มีรูระบายอากาศ
3. การปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน ต้องกรีดไม่ให้เกิดบาดแผล ลอกไหมให้เกลี้ยง เครื่องมือที่ใช้ เช่น มีด ภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด
4. ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณเชื้อราตามที่ต่างๆ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ มีด หรือภาชนะที่ใช้ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวถึงการบรรจุหีบห่อ และทำความสะอาดห้องเก็บรักษาในรูปของแก๊สหรือใช้สารละลายที่ฆ่าเชื้อโรคภายนอก เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ อัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำฉีดพ่นหรือใช้โซเดียวไฮโปคลอไรด์ เป็นต้น

5. สำหรับผู้ส่งออก ควรลดอุณหภูมิข้าวโพดฝักอ่อนที่มาจากแปลงปลูกโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ วิธีที่นิยมใช้คือ การอัดลมเย็น (forced-air cooling) จะทำให้ลดการระบาดของการเน่า ลดการสูญเสียน้ำและความหวาน ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น

6. อุณหภูมิที่ใช้ในระหว่างการเก็บเกี่ยว หรือระหว่างการขนส่ง คือ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์

7. การบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม ไม่บรรจุมากเกินไปในกล่องเดียวกัน การเก็บรักษาในถาดโฟมที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC จะช่วยป้องกันผลผลิตให้คงมีคุณภาพดี

ข้อควรปฏิบัติให้ได้
- หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลหรือความชอกช้ำบนฝัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปอกเปลือกตลอดจนการบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการปฏิบัติอื่น ๆ หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการที่เชื้อราและบักเตรีบางชนิดเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น