การเก็บเกี่ยวฝ้ายและมาตรฐานฝ้ายดอกของไทย

การเก็บเกี่ยวฝ้ายให้มีคุณภาพ

เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวฝ้าย เพื่อให้ได้ฝ้ายที่มีคุณภาพดี ดังนี้

1. แยกเก็บเกี่ยวฝ้ายตามชนิดหรือพันธุ์ฝ้าย อย่าเก็บฝ้ายหลายพันธุ์ปะปนกัน เพราะจะได้ฝ้ายที่มีความยาวไม่สม่ำเสมอ
2. การเก็บเกี่ยวฝ้ายพันธุ์เดียวกันควรแบ่งการเก็บเกี่ยวออกเป็น 3 ครั้ง ยกเว้นพันธุ์ศรีสำโรง 2 และศรีสำโรง 60 ควรแบ่งการเก็บเกี่ยวออกเป็น 4 ครั้ง เนื่องจากมีอายุยาวกว่าพันธุ์ส่งเสริมอื่น ๆ การพิจารณาเก็บเกี่ยวฝ้ายเมื่อใดนั้น ใช้ปริมาณฝ้ายที่แตกสมอในไร่เป็นหลัก กล่าวคือเก็บฝ้ายครั้งแรก เมื่อฝ้ายแตกสมอหนึ่งในสามสำหรับฝ้ายทั่วไป ส่วนพันธุ์ศรีสำโรง 2 และศรีสำโรง 60 เก็บครั้งแรกเมื่อฝ้ายแตกสมอหนึ่งในสี่
ส่วนการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป พิจารณาตามอัตราส่วนดังภาพ


การเก็บเกี่ยวฝ้ายครั้งสุดท้าย ควรแยกบรรจุกระสอบและแยกขายต่างหาก เพราะความยาวของเส้นใยฝ้ายจะสั้นกว่าการเก็บครั้งที่ 1, 2 หรือ 3 ประมาณ 1 มิลลิเมตร
3. เก็บฝ้ายเมื่อสมอแตก ฟูเต็มที่ พยายามเก็บเฉพาะปุยฝ้ายเท่านั้น ระวังอย่าให้เศษใบฝ้าย และริ้วประดับที่แห้งอยู่ที่สมอ ติดปะปนไปกับปุยฝ้าย
4. การเก็บเกี่ยวฝ้ายในไร่ควรใช้ถุงผ้าสำหรับบรรจุฝ้ายสะพายไหล่ 2 ถุง โดยถุงหนึ่งบรรจุเฉพาะฝ้ายที่ดีสะอาด ส่วนอีกถุงหนึ่งใช้บรรจุ ฝ้ายฟันม้า หรือฝ้ายที่เสีย แยกฝ้ายส่วนที่ดีบรรจุกระสอบขายต่างหาก ส่วนฝ้ายฟันม้าก็สามารถเก็บรวบรวมและขายได้

5. ฝ้ายที่เปียกฝน ต้องนำมาตากแดดและผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนบรรจุกระสอบ

6. เชือกเย็บปากกระสอบใช้เชือกปอเท่านั้นห้ามใช้เชือกพลาสติก

มาตรฐานฝ้ายดอกของไทย

การกำหนดมาตรฐานฝ้ายดอกของไทยพิจารณาจาก 2 ลักษณะ คือความยาวและความสะอาดของเส้นใยฝ้าย โดย

1. ความยาว แบ่งออกเป็น 4 มาตรฐานคือ
ก. ฝ้ายยาวมาก ได้แก่ฝ้ายที่มีความยาว 28 มม. ( 1 3/32 นิ้ว) หรือยาวมากกว่านี้
ข. ฝ้ายยาว ได้แก่ฝ้ายที่มีความยาว 27 มม. ( 1 1/16 นิ้ว)
ค. ฝ้ายสั้น ได้แก่ฝ้ายที่มีความยาวอยู่ระหย่าง 25-26 มม. (1-1 1/32 นิ้ว)
ง. ฝ้ายสั้นมาก ได้แก่ฝ้ายที่มีความยาว 24 มม. ( 15/16 - 31/32 นิ้ว)

2. ความสะอาด พิจารณาดังนี้
ก. สีของฝ้าย ฝ้ายที่ดีจะต้องมีสีขาวสะอาดตามะรรมชาติ สีไม่คล้ำเนื่องจากเปียกน้ำ และไม่มีจุดด่างเป็นสีอื่น เนื่องจากการทำลายของแมลงและจุลินทรีย์ต่าง ๆ
ข. สิ่งเจือปน ได้แก่สิ่งเจือปนตามธรรมชาติคือ เศษใบแห้ง เศษกิ่งก้านของฝ้ายรวมทั้งเมล็ดตาย (ฟันม้า)

การพิจารณาเรื่องความสะอาดแบ่งเป็น 3 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 ได้แก่ฝ้ายที่มีสีขาวสะอาด และมีสิ่งเจือปนน้อยมาก
ชั้นที่ 2 ได้แก่ฝ้ายที่มีสีขาวสะอาดและมีสิ่งเจือปนปานกลาง
ชั้นที่ 3 ได้แก่ฝ้ายที่มีจุดด่างมีสีคล้ำ หรือมีสิ่งเจือปนอยู่มาก