1. รกไม่ออกหรือรกค้างตามปกติ รกจะถูกขับออกมาหลังจากคลอดลูกแล้ว 2-6 ชั่วโมง หากนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง รกยังไม่หลุดออกมาแสดงว่าผิดปกติ หรือเกิดรกค้างซึ่งอาจจะเกิดจากการผิดปกติของมดลูก หรือเป็นการผิดปกติต่อระบบการสืบพันธุ์ของแม่โค การแก้ไขรกค้างควรให้สัตว์แพทย์หหรือผู้ที่มีความชำนาญทำการล้วงเอารกออกมา ตามปกติสัตว์แพทย์จะสวมถุงมือล้วงเข้าทางช่องคลอดเพื่อทำการแกะเม็ดกระดุมของรกออกจากผนังมดลูก ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวังและนิ่มนวล เมื่อแกะออกหมดแล้วจึงค่อยดึงรกออกมาหากทำรุนแรง ผนังมดลูกที่ติดกับเม็ดกระดุมอาจหลุดติดมือออกมาด้วยทำให้เกิดการตกเลือดในมดลูก อาจทำให้แม่โคตายได้
2. มดลูกทะลัก มดลูกที่ทะลักออกมาจะมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ อาจทะลักออกมาทันทีหลังคลอด หรือแม้กระทั่งต่อไปอีก 2-3 วันผ่านไปแล้ว เมื่อมดลูกทะลักจะไม่กลับเข้าไปเองได้ อีกทั้งยังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีเลือดคั่งออกมา จำเป็นต้องเอามดลูกนี้กลับเข้าไปในท้องโคอย่างเดิม โดยทำความสะอาดส่วนที่ทะลัก ด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ล้างให้สะอาด ถ้ามดลูกพองตัวมากใช้น้ำตาลทรายขาวโรยบนมดลูก เพื่อให้ดูดของเหลวภายในมดลูกออก ทำให้มดลูกเล็กลง จากนั้นจึงดันเข้าไปในช่องคลอดตามเดิม แล้วใช้นำเกลือประมาณ 10 ลิตร ใส่เข้าไปในมดลูก เพื่อทำความสะอาดอีกครั้ง ส่วนน้ำเกลือที่เข้าไปก็เอาออกโดยใช้ท่อยางดูดออกแล้วใส่ยาปฏิชีวนะเข้าไปในมดลูกเพื่อป้องกันการอักเสบของมดลูก สาเหตุที่โคมีอาการมดลูกทะลัก ส่วนใหญ่เกิดจากแม่โคขาดแคลเซี่ยมในเลือดหรืออาจเกิดจากแม่โคเบ่งลูกแรงเกินไป
3. นมคัดลูกโคอาจจะดูดนมจากแม่ไม่ทันทำให้นมคัด ผู้เลี้ยงต้องรีดนมออกเสียบ้าง เพื่อไม่ให้แม่โคปวดเต้านม และอึดอัดจนอาจทำให้เต้าอักเสบได้
4. ไข้นม โคที่ให้น้ำนมมาก ๆ จะดึงเอาแคลเซี่ยมในร่างกายออกไปใช้มากด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลเซี่ยมในเลือดโค อาการที่แม่ขาดแคลเซี่ยม แม่โคจะนอนหงาย เอาหัวทิ่มส่วนหลัง จะต้องให้แคลเซี่ยมกลูโคเนต โดยวิธีฉีดแก่โคตัวนั้น
5. ลูกไม่ดูดนมแม่ ในขณะที่แม่โคคลอดลูกใหญ่ ๆ เต้านมของแม่โคจะเต่งตึงมาก หัวนมบางหัวก็ขยายใหญ่ด้วย ทำให้ลูกโคไม่สามารถดูดนมแม่โคได้สะดวก หรือบางกรณีจะพบว่าหัวนมอุดตันอยู่ ผู้เลี้ยงต้องรีดนมให้สิ่งอุดตันหลุดออกมาหรือรีดให้น้ำนมไหลออกมาได้
6. แม่ไม่ให้ลูกกินนม นอกจากลูกโคไม่กินนมแม่แล้วบางครั้งแม่โคไม่ให้ลูกกินนมด้วย สาเหตุมักมาจากเต้านมผิดปกติ เช่นเต้านมอักเสบหรือเจ็บหัวนม อาจเกิดขึ้นกับโคสาวที่ยังไม่เคยมีลูก ผู้เลี้ยงต้องพยายามให้ลูกกินนมโดยการล่ามแม่โคผูกขาให้ยืนอยู่กับที่ จับลูกให้กินนม รักษาแม่โคให้หายจากสาเหตุที่เป็นด้วย อาจรีดนมแม่ให้ลูกกินช่วยด้วยอีกทางหนึ่งก็ได้ ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ให้นำไปกินนมแม่ตัวอื่นไปพลาง ๆ ก่อน แล้วจึงรีบให้กลับมากินนมจากแม่ตัวจริงโดยเร็ว อย่าทิ้งไปนานแม่โคอาจลืมลูกของตัวเองได้
7. แม่โคไม่ยอมเลี้ยงลูก เป็นส่วนที่พบบ่อยเช่นกันต้องนำโคทั้งแม่และลูกให้อยู่ใกล้กันให้มากที่สุด โดยอาจใช้วิธีจับขังหรือล่าม แต่ถ้าแม่โคไม่ยอมรับลูกอีก ก็จำเป็นต้องนำลูกโคไปให้โคตัวอื่นเลี้ยงหรือยกลูกเลี้ยงต่างหาก โดยรีดนมให้กิน หรือเลี้ยงด้วยนมผงหรืออาหารสำเร็จเลี้ยงลูกโคต่อไป

การเลี้ยงโคฝูงใหญ่ ๆ หรือจำนวนมาก ในปีหนึ่งเราต้องการผลิตลูกโคให้ได้มากที่สุด แม้แม่โคจะให้ลูกได้ปีละหนึ่งตัว ในทางปฏิบัติมักไม่เป็นเช่นนั้น คือจะได้ลูกไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าได้น้อยผู้เลี้ยงก็ควรจะแก้ไข นอกจากนั้นลูกโคที่เกิดมาจะต้องมีน้ำหนักแรกเกิดสูง อัตราการเจริญเติบโตดี มีอัตราการตายต่ำด้วย
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ผู้เลี้ยงจะต้องหาวิธีการต่าง ๆ มาปฏิบัติเพื่อลดความสูญเสียเช่น
  1. ใช้พ่อโคและแม่โคที่มีลักษณะดีมาผสมพันธุ์กัน ทำให้ได้ลูกโคที่ดี
  2. ก่อนทำการผสมพันธุ์ควรตรวจสอบโรคแท้งติดต่อโคทุกตัว
  3. หลีกเลี่ยงการผสมโคในช่วงหน้าร้อน
  4. ตรวจสอบการตั้งท้องของโคหลังผสมแล้ว 2-3 เดือน
  5. ให้แม่โคได้กินอาหารอย่างสมบูรณ์และเพียงพอ เมื่อแม่โคสมบูรณ์ดี ปัญหาการเป็นสัดก็ลดลงด้วย คือจะเป็นสัดตามปกติ แต่ควรระวังไม่ให้แม่โคอ้วนเกินไป