เครื่องมือและวิธีการประมง เครื่องมือที่ใช้ทำการประมงปูทะเลในประเทศไทยที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย พอจะจำแนกออกได้เป็น 9 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
1. อวนจมปู (Crab bottom gill net)
ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้ออวน 2 ชนิด คือ เนื้ออวนไนลอนและเนื้ออวนเอ็น ชาวประมงรายหนึ่ง ๆ จะใช้อวนประมาณ 15-100 ผืน มาต่อกัน
วิธีการทำการประมง : ชาวประมงจะนำเรือออกไปตามชายฝั่งทะเลที่มีระดับความลึกของน้ำประมาณ 2-40 เมตร แล้วทำการวางอวนให้ติดพื้นท้องทะเล (ภาพที่ 11) การวางอวนต้องวางขวางกระแสน้ำ โดยทิ้งถ่วงหินปลายข้างหนึ่งแล้วปล่อยอวนไปเรื่อย ๆ จนหมด แล้วจึงทิ้งหินถ่วงปลายอีกข้างหนึ่ง มีทุ่นธงผูกไว้ ซึ่งในเวลากลางคืนจะมีตะเกียงไฟน้ำมันผูกติดทุ่นธงไว้ด้วย เพื่อใช้ในการสังเกตตำแหน่งอวน

2. ไซนอน ลอบปา (Bamboo trap)
ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก (ภาพที่ 12) ประกอบด้วยไม้ไผ่ซีกถักด้วยหวาย มีปากทางเข้าเรียกว่า "งาแซง" มีทั้งงา 2 ชั้น และงา 2 ข้าง (หัวท้ายของลอบ) ทำหน้าที่กันปูที่เข้าลอบแล้วมิให้ออกได้ง่าย แต่มีที่เปิดตอนท้ายของลอบเพื่อนำปูออก สำหรับลอบปาจะมีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งในท้องถิ่นทางภาคใต้มักนิยมเรียกลอบนี้ว่า "ไซ"


วิธีทำการประมง: ชาวประมงจะวางลอบในที่น้ำตื้น บริเวณตามป่าชายเลนปากแม่น้ำที่เปิดออกสู่ทะเล โดยวางเป็นลูก ๆ ใช้ไม้ปักค้ำ 2 อันไว้เพื่อไม่ให้ลอบเคลื่อนที่ในตัวลอบจะมีเหยื่อผูกด้วยลวด เพื่อล่อสัตว์น้ำให้เข้าลอบ เหยื่อที่ใข้ได้แก่ ปลาเป็ด และปลากระเบน เป็นต้น
1. ปากลอบ
2. ฝาปิดก้นลอบ
3. ก้อนหินถ่วงลอบ
4. ทุ่นกระบอก
2. ก้นลอบ
4. งาแซง
6. สายทุ่น

3. ไซนู (Bamboo trap)

เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันในภาคใต้ ลักษณะเป็นรูปทรงปิรามิดยอดสูง ทำด้วยไม้ไผ่ทรงกระบอกผ่าให้เป็นซี่ และถักด้วยเชือกให้ซี่ไม้ห่างกัน 1-3 เซนติเมตร ปากทางเข้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 25 เซนติเมตร ความยาวไซจากปากถึงก้น 40 เซนติเมตร (ภาพที่ 13) ตอนก้นจะมีหินถ่วง ส่วนฝาปิด-เปิดมีห่วงพลาสติกผูกตรงสี่มุมของฝา ห่าวทั้ง 4 จะร้อยอยู่กับรางไม้เลื่อนขึ้นลงได้ มีกระเดื่องสำหรับปิด-เปิดอันหนึ่ง กับกระเดื่องเสียบเหยื่ออีกอันหนึ่ง โดยทั้ง 2 อันจะติดกันตรงปลายที่เจาะรูไว้มียางยืดคอยดึงที่ฝาปิด-เปิด ขณะเมื่อปูเข้าไปกินเหยี่

วิธีการทำประมง: เครื่องมือชนิดนี้จะใช้ได้ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน ทั้งในช่วงน้ำขึ้นและน้ำลง ชาวประมงจะทำการประมงตามชายฝั่งทะเล แม่น้ำลำคลองน้ำกร่อยที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 1-5 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นพื้นโคลน โดยจะวางเครื่องมือตามภาพที่ 13 จะทำการกู้ 2-3 ครั้งต่อวัน เมื่อเอาสัตว์น้ำออกแล้วจะเปลี่ยนเหยื่อใหม่เพื่อนำไปดักจับปูต่อไป

4. เชงเลงราว (Cone shaped bamboo trap set on line)

เครื่องมือนี้ประกอบด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ถักด้วยหวายเป็นเปลาะ ๆ เป็นรูปทรงกระบอก (ภาพที่ 14) ความยาวจากปากถึงก้นประมาณ 50-75 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์ตอนปากยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร และส่วนก้นยาว 9 เซนติเมตร

วิธีทำการประมง: เชงเลงราววางได้ทั้งกลางวัน-กลางคืน ทั้งในช่วงน้ำขึ้นหรือน้ำลง ชาวประมงจะวางบริเวณปากแม่น้ำหรือตามชายฝั่งที่พื้นท้องทะเลเป็นโคลน ความลึกของน้ำประมาณ 1-8 เมตร โดยทำการวางเป็นราวผูกด้วยเชือกคร่าวให้เชงเลงแต่ละลูกห่างกัน 5 เมตร ชาวประมงรายหนึ่ง ๆ มีเชงเลงประมาณ 30-50 ลูก

5. ลอบแบบฝาชี (Crab trap)

เป็นเครื่องมือจับปูชนิดหนึ่งที่นำแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น ลักษณะคล้ายฝาชี โครงทำด้วยเหล็กเส้นขนาด 2.5 หุน นำมาเชื่อมประกอบเป็นรูปฝาชี แล้วหุ้มด้วยเนื้ออวนโปลีขนาด 1-2 นิ้ว ทางเข้าใช้ตะกร้าหรือชามพลาสติกเจาะกันเพื่อเป็นทางให้ปูเข้าลอบ (ภาพที่ 15)

วิธีการทำประมง : ลอบนี้จะใช้ตามริมชายทะเลทั่วไปที่น้ำตื้น พื้นท้องทะเลเป็นโคลนระดับความลึกประมาณ 0.50-2.50 เมตร ชาวประมงจะนำลอบใส่เหยื่อออกไปวางในแหล่งที่คาดว่ามีปู โดยางห่างกันลูกละประมาณ 10-15 เมตร โดยมีทุ่นผูกติดกับลอบทุกใบเพื่อไว้สังเกต ลักษณะการทำงานของลอบนี้ ปูจะไต่ขึ้นบนตัวลอบ เพื่อเข้าไปกินเหยื่อแล้วไม่สามารถออกมาได้ ชาวประมงก็จะทำการกู้ลอบและเปิดเอาปูออกทางด้านล่าง

6. ลอบปูแบบพับได้ (Collapsible crab trap)

โครงสร้างประกอบด้วยเหล็กเส้นขนาด 2.5 หุน ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 45x60x30 เซนติเมตร ทาด้วยสีกันสนิม และคลุมด้วยอวนโปลีขนาดตาอวน 1 นิ้ว มีทางเข้า 2 ทาง คือ ทางตอนหัวและท้าย เรียกว่า "งาแซง" ลักษณะพิเศษของลอบนี้คือ สามารถพับเก็บได้ (ภาพที่ 16)

วิธีทำการประมง จะมี 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 การวางลอบแบบเดี่ยวโดยใส่เหยื่อปลาสดแล้ววางลอบผูกทุ่น การวางลอบจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็ทำการกู้ ชาวประมงรายหนึ่ง ๆ จะมีลอบประมาณ 25-50 ลูก

วิธีที่ 2 การวางแบบราว นำลอบมาผูกเชือกยาว 5 เมตร ผูกติดกับสายคร่าวให้ลอบแต่ละลูกห่างกัน 10 เมตร แหล่งทำการประมงด้วยเครื่องมือนี้ จะเป็นบริเวณตามชายฝั่งทะเลทั่วไป ปะการังเทียมและซากโป๊ะ

7. จั่น หย่อง หยอง ยอปู (Crab lift net)

เครื่องมือจั่นนี้ มีลักษณะคล้าย ๆ กับยอขนาดเล็ก โดยใช้ตาอวนขนาดประมาณ 5-6 เซนติเมตร ใช้ตะกั่วถ่วงทั้งสี่มุม มีเหยื่อผูกตอนกลางของต้นไม้ มีทุ่นพลาสติกพร้อมสายทุ่น (ภาพที่ 17) ทางภาคใต้เรียกว่า "หยองหรือยอปู"

วิธีการประมง : ชาวประมงจะทำการประมงในบริเวณชายฝั่งที่มีพื้นเป็นโคลนความลึกน้ำประมาณ 0.30-4 เมตร การวางจะวางในช่วงน้ำไหล ซึ่งจะได้ผลดีกว่าน้ำนิ่งจั่นจะถูกวางเป็นรูปวงรี มีระยะห่างกันคันละประมาณ 10-15 เมตร เมื่อวางคันสุดท้ายก็จะเริ่มกู้จั่นอันแรก ชาวประมงรายหนึ่ง ๆ จะมีจั่นประมาณ 10-15 คัน โดยมีทุ่นพลาสติกเป็นเครื่องหมาย

8. ตะขอเกี่ยวปู (Hook)

ตะขอเป็นเครื่องมือที่ใช้จับปูที่อาศัยอยู่ในรูในป่าชายเลน ลักษณะของตะขอจะเป็นเหล้กเส้นขนาดประมาณ 2-3 หุน ยาว 110 เซนติเมตร มีปลายข้างหนึ่งงอสำหรับเกี่ยวปูออกจากรู (ภาพที่ 18)

9. แร้วดักปู (Crab lift net)

เป็นเครื่องมือที่ใช้จับปูแบบง่าย ๆ และเป็นที่นิยมกันทั่วไปของชาวประมงขนาดเล็ก ขอบแร้วทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกหรือลวด แร้วมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-50 เซนติเมตร ตัวแร้วทำด้วยเนื้ออวน ซึ่งมีทั้งด้านถักและเอ็นขนาดตาประมาณ 8-10 เซนติเมตร คันแร้วใช้ไม้โกงกางยาว 1.5 เซนติเมตร ตรงโคนเสี้ยมให้แหลมมีเชือกผูกตรงขอบแร้ว 3 จุด แล้วปลายผูกรวมกันเป็นปมที่คันแร้ว มีที่เสียบเหยื่อตรงกลางเนื้ออวนติดกับคันแร้ว (ภาพที่ 19)

วิธีทำการประมง : ชาวประมงจะเสียบเหยื่อแล้วทำการวิ่งเรือ ปักแร้วกับพื้นทะเลที่เป็นโคลน ระดับความลึกของน้ำประมาณ 0.30-2.5 เมตร โดยปักแร้วให้ห่างกันประมาณ 5-6 เมตรต่ออัน ชาวประมงรายหนึ่ง ๆ จะมีแร้วประมาณ 20-120 อัน