โรคของไม้ดอกกระถาง

ชนิดหรือสาเหตุของโรคไม้ดอกกระถาง
เนื่องจากพืชที่จัดเป็นไม้ดอกกระถาง หรือเป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกในกระถาง หรือใช้ประโยชน์ในสภาพที่ปลูกอยู่ในกระถางนั้น ประกอบด้วยพืชกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช แตกต่างกันหลายชนิดหลายวงศ์ ตั้งแต่พืชล้มลุก พืชกึ่งล้มลุก และพืชยืนต้น ดังนั้นโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ของพืชไม้ดอกกระถางจึงมีความหลากหลาย ทั้งเหมือนและแตกต่างไป การจำแนกชนิดหรือสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายและความผิดปกติกับไม้ดอกกระถาง เป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่สามารถทำให้ง่ายและเกิดความเข้าใจชนิด หรือสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายกับพืช และสามารถทำให้เข้าใจในการเลือกวิธีการควบคุม ป้องกันความเสียหายที่เกิดหรืออาจจะเกิดขึ้นได้

ชนิดหรือสาเหตุของโรคพืชหรือโรคของไม้ดอกกระถาง สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ คือ
1. สาเหตุของโรคซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิต โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดจากสาเหตุในกลุ่มนี้ อาจเกิดหรือปรากฎได้กับทุกส่วนของต้นพืช เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วสามารถแพร่ระบาดหรือกระจายจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียง หรือแปลงปลูกอื่น ๆ ได้ บางครั้งเรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า โรคระบาดหรือโรคติดเชื้อ สาเหตุในกลุ่มนี้ได้แก่
1.1 พืชชั้นสูง ได้แก่ พืชที่มีการสร้างดอก พืชชั้นสูงชนิดที่สามารถเข้าทำลายต้นพืชที่ปลูก และทำให้พืชเกิดอาการผิดปกติ ได้แก่ กาฝาก ฝอยทอง เกร็ดนาคราช พืชชั้นสูงที่เป็นปรสิตเหล่านี้มักขึ้นหรือเจริญบนพืชอื่น ๆ โดยเฉพาะไม้ผลและพืชยืนต้น ทำให้ต้นพืชถูกแย่งอาหารไม่ออกดอกผล และอาจตายได้
1.2 สาหร่าย โดยเฉพาะสาหร่ายที่มีชื่อว่า เซฟาลูโรส (Cephaleuros) สามารถเจริญบนส่วนของพืช เช่น ใบ ผล กิ่ง และลำต้น ทำให้เกิดเป็นจุด ๆ สีเขียวถึงสีน้ำตาลเขียว อาจทำให้ใบเหลืองและร่วง ทำให้กิ่งและลำต้นมีสีเขียวปนน้ำตาล ดูสกปรก และอาจทำให้ต้นพืชมีการเจริญเติบโตน้อยลง
1.3 เชื้อรา เป็นพืชชั้นต่ำชนิดที่สังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารเองไม่ได้ ส่วนมากมีลักษณะเป็นเส้นใย มีการสืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ เชื้อราชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคสามารถเจริญได้บนเซลล์ของพืช หรือเข้าทำลายโดยเข้าไปเจริญภายในเซลล์พืช สามารถทำลายพืชได้ทุกส่วน และแย่งดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชมาเลี้ยงหรือเพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา
1.4 เชื้อแบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นเซลล์เดียว ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า ยกเว้นในกรณีที่อยู่เป็นกลุ่ม (โคโลนี) บนอาหารเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการ จะมีลักษณะเป็นเมือกของเหลวเหนียวข้น แบคทีเรียชนิดที่ทำให้พืชเกิดโรคได้สามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการเน่า ใบไหม้ ใบเป็นจุด ใบเป็นแผลสะเก็ด อาการเหี่ยว เป็นต้น
1.5 ไวรัส มีลักษณะเป็นอนุภาค มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบธรรมดา ต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงมาก ๆ หากเข้าทำลายพืชมักทำให้เกิดอาการใบด่าง ยอดบิด ต้นเตี้ย แคระแกร็น เป็นเชื้อที่สามารถเพิ่มหรือขยายจำนวนได้ภายในเซลล์ของพืช
1.6 ไวรอยด์ เป็นเชื้อที่คล้ายไวรัส และมีองค์ประกอบบางส่วนแตกต่างจากไวรัส แต่มีขนาดเล็กกว่าไวรัส ไวรอยด์ที่เป็นสาเหตุของโรคมีเพียงชนิดที่ทำให้เกิดโรคกับพืช
1.7 มายโคพลาสมา เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลล์ มีขนาดอยู่ระหว่างแบคทีเรียและไวรัส เมื่อเข้าทำลายพืชจะอยู่ภายในเซลล์พืช ทำให้พืชเกิดการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ใบมีขนาดเล็กลง แตกเป็นกระจุก หรือเป็นพุ่มฝอย ดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียว แตกตาเป็นกิ่งขนาดเล็ก ๆ เป็นกระจุก เป็นต้น
1.8 ไส้เดือนฝอย เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวไม่เป็นข้อ ไม่เป็นปล้อง ขนาดเล็กมาก ยาวเพียงประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร แต่สามารถมองดูได้โดยการใช้กล้องสเตอริโอหรือกล้องจุลทรรศน์ ไส้เดือนฝอยมักมีรูปร่างผอมยาวหรือโป่งพองจนเป็นถุงกลม ส่วนมากไส้เดือนฝอยมักเข้าทำลายส่วนของรากหรือโคนต้น ทำให้เกิดอาการรากเป็นแผล รากเป็นปม หรือรากกุดงอ

2. สาเหตุของโรคซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ การดูแลปฏิบัติหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมของต้นพืชที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้องต่อการเจริญเติบโตของพืช และมีผลทำให้พืชมีลักษณะรูปร่างหรือเกิดอาการผิดปกติ เช่น
2.1 อุณหภูมิสูงเกินไป หรือแสงแดดมากเกินไป ทำให้ต้นพืชเกิดอาการไหม้ลวก อาจเกิดบนใบหรือผล หรืออุณหภูมิบริเวณผิวดินที่สูงเกินไปอาจทำให้ต้นอ่อนหรือต้นกล้าของพืชเกิดอาการไหม้ลวกทั้งต้นได้
2.2 แสง (แดด) ไม่เพียงพอ อาจทำให้ใบของพืชมีสีเขียวซีด ลำต้นยืดยาวผิดปกติ ต้นไม่แข็งแรงหรือไม่ออกดอกผล
2.3 ความชื้นในดินสูง หรือน้ำมากเกินไป อาจทำให้พืชไม่แข็งแรง ใบล่าง ๆ เหลือง ร่วง เกิดอาการรากเน่าหรือโคนต้นเน่า และต้นพืชอาจตายได้
2.4 ความชื้นในอากาศน้อยหรือต่ำเกินไป มักทำให้ปลายใบหรือขอบใบไหม้แห้ง ใบอาจบิดเบี้ยว ช่อดอกแห้งร่วง ผลเหี่ยว ต้นพืชเหี่ยว
2.5 อากาศเป็นพิษ (มลภาวะ) เช่น มีหมอกควันหรือละอองฝุ่น หากปกคลุมใบหรือต้นพืชทำให้ต้นพืชสังเคราะห์แสงได้น้อยหรือไม่ได้ อาจทำให้ใบมีจุดขาวซีดหรือใบเปลี่ยนสีหากในหมอกควันหรือฝุ่นละอองนั้นมีก๊าซพิษหรือสารพิษมาด้วย
2.6 ธาตุอาหารน้อยหรือมากเกินความต้องการ อาการผิดปกติเกิดบนส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของธาตุอาหารนั้น ๆ เช่น การได้รับธาตุไนโตรเจนน้อยหรือขาด มักทำให้พืชมีใบสีเขียวอ่อนหรือซีดเหลืองลง ลำต้นผอมและเตี้ยแคระ พืชมีการเจริญเติบโตลดลง หรือหากพืชได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้พืชมีต้นและใบอวบใหญ่ อาจเกิดอาการเฝือใบ ไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อยลง
2.7 ความเป็น กรด-ด่าง ของดิน ดินที่มีความเป็นกรดหรือด่างจัดมากเกินไปทำให้ต้นพืชไม่สามารถใช้ธาตุปุ๋ยได้ตามปกติ หรืออาจขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการขาดธาตุอาหารได้
2.8 พิษจากสารเคมีกำจัดวัชชพืช ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ใบบิดเบี้ยว ใบด่าง ใบย่น ใบเป็นจุด ใบไหม้หรือซีดเหลือง
2.9 พิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดโรค การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเพื่อการควบคุมโรคอาจเกิดความผิดพลาด เช่น ใช้ผิดชนิดหรือผิดวิธีการ โดยเฉพาะการใช้สารที่มีกำมะถันและทองแดงเป็นองค์ประกอบ อาจทำให้เกิดอาการใบไหม้หรือร่วงได้
2.10 การปฏิบัติดูแลไม่ถูกต้อง ได้แก่ การพรวนดินใกล้รากหรือโคนต้นมากไป อาจทำให้รากขาดหรือโคนต้นเป็นแผล อาจทำให้ต้นเหี่ยว การให้น้ำ การให้ปุ๋ย หากให้โดยไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี หรือไม่ถูกต้องกับระยะการเจริญของต้นพืช อาจทำให้ต้นพืชเกิดอาการผิดปกติได้หลาย ๆ แบบ เช่น น้ำอาจขังมากไปทำให้รากเน่า ใส่ปุ๋ยมากไปทำให้เกิดอาการใบซีดเหลือง ใบร่วง เป็นต้น การปลูกในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อความต้องการของพืช เช่น นำพืชที่ชอบสภาพแล้งไปปลูกในสภาพดินชื้นแฉะ อาจทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้เช่นกัน หรือแม้แต่การไม่แกะเอาผ้าพลาสติกที่ใช้เพื่อการทาบกิ่งออกจากต้นหรือกิ่งที่ทาบไว้ก่อนนำไปปลูก จะทำให้ต้นพืชมีลำต้นคอดกิ่ว (เนื่องจากถูกผ้าพลาสติกรัดไว้) ทำให้ต้นพืชที่ปลูกไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร