โรคของไม้ดอกกระถาง

แนวทางการป้องกันกำจัดโรคของไม้ดอกไม้ประดับ

การป้องกันกำจัดโรคของไม้ดอกไม้ประดับ มีวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และชนิดหรือสาเหตุของโรคเป็นสำคัญ โดยหลักของการป้องกันกำจัดโรคแล้ว จะมีวิธีการที่คล้ายกันที่กล่าวในเรื่อง การป้องกันกำจัดโรคพืช แต่รายละเอียดของการปฏิบัติอาจแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากสามารถทราบสาเหตุของโรค ดังนี้

1. การป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

1.1 การใช้เมล็ดหรือท่อนพันธุ์ปราศจากเชื้อหรืออาการของโรค
1.2 ตัดแต่งหรือทำลายส่วนของพืชที่เป็นโรค
1.3 ทำลายต้นพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อ
1.4 ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่สะอาดปราศจากเชื้อ
1.5 ดินที่เพาะปลูกควรมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
1.6 ใช้พันธุ์ต้านทาน
1.7 ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่เหมาะสมกับชนิดของโรค


2. การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

2.1 ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ
2.2 แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด
2.3 ไถพลิกดินตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อที่มีอยู่หรือสะสมอยู่ในดิน
2.4 ปลูกพืชหมุนเวียน
2.5 ระมัดระวังการให้น้ำในกรณีที่พบโรค เพราะอาจทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคกระจายได้ง่าย
2.6 ป้องกันกำจัดแมลงที่ทำให้เกิดแผลกับพืชด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อไม่ให้เกิดช่องทางการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรีย
2.7 ใช้พันธุ์ต้านทาน
2.8 ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมัยซิน เอกริมัยซิน เป็นต้น


3. การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและมายโคพลาสมา

3.1 ใช้ส่วนขยายพันธุ์ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากเชื้อ หรือขยายพันธุ์จากต้นปลอดโรค
3.2 ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ (ถ้าทำได้)
3.3 กำจัดพืชที่เป็นที่อาศัยของเชื้อสาเหตุของโรค และแมลงพาหะนำโรคที่อาจเป็นแหล่งของการแพร่เชื้อได้
3.4 กำจัดแมลงพาหะด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง
3.5 ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
3.6 ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีใด ๆ ที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง
3.7 ในกรณีของโรคพืชเกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา สามารถใช้สารปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลิน (tetracycline) รักษาได้


4. การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย

4.1 ใช้ความร้อนหรือแก๊สฆ่าไส้เดือนฝอยศัตรูพืชในดิน โดยการคั่วดิน อบดิน ในแปลงเพาะเมล็ด
4.2 การไถพลิกเพื่อตากดิน เพื่อให้ความร้อนจากแสงแดดฆ่าไส้เดือนฝอย นอกจากนี้ ความร้อนจากแสงแดดยังกระตุ้นให้ไข่ของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชบางชนิดที่ทนทานความแห้งแล้ง ฟักออกเป็นตัวอ่อนและถูกทำลายโดยแสงแดด
4.3 การปลูกพืชหมุนเวียน
4.4 การปลูกพืชที่เป็นพิษต่อไส้เดือนฝอย เช่น ดาวเรือง ซึ่งที่รากของดาวเรืองมีสารเคมีที่เป็นพิษต่อไส้เดือนฝอย ศัตรูพืชชนิดที่ทำให้เกิดโรครากแผล และไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดรากปม หรือถั่วโครทาราเรีย ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของไส้เดือนฝอย รากปม และไส้เดือนฝอยรากกระจุก
4.5 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ศัตรูธรรมชาติของไส้เดือนฝอยเพิ่มมากขึ้น และคอยทำลายไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
4.6 การไขน้ำท่วมแปลงปลูกพืชนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ควรจะนาน 4-12 เดือน) จะทำให้ไส้เดือนฝอยขาดอากาศหายใจ และตายในที่สุด
4.7 การใช้พันธุ์ต้านทาน ซึ่งจัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
4.8 การใช้สารเคมีจำกัดไส้เดือนฝอย เช่น อัลดิคาร์บ คาร์โบฟูราน เป็นต้น