ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2 (ชื่อเดิม พี.ไอ. 288603) เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับจากแหล่งรวบรวมพันธุ์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2520 มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย หลังจากการคัดเลือกหลายชั่วจนได้สายพันธุ์ดีแล้วจึงนำเข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงทดสอบในไร่เกษตรกรในแหล่งปลูกถั่วเขียวผิวดำหลายท้องที่ พบว่าเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะดีและได้รับการพิจารณารับรองให้เป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พศ 2533 เป็นต้นมา

ลักษณะดีเด่น

1. ขนาดเมล็ดใหญ่
2. ทรงต้นโปร่ง ตั้งตรง ไม่เลื้อย
3. อายุเก็บเกี่ยวสั้น
4. ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในฤดูแล้ง
5. ฝักไม่แตกง่า


ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2
แหล่งปลูก
แหล่งปลูกถั่วเขียวผิวดำพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญและเป็นแหล่งปลูกถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2 ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ลพบุรี กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์

ฤดูปลูก

ช่วงปลูกที่เหมาะสม คือ
ฤดูแล้ง ควรปลูกในช่วงระหว่าง 1-15 มกราคม (หลังเก็บเกี่ยวข้าว)
ฤดูฝน ควรปลูกในช่วงระหว่าง 1-30 สิงหาคม (หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด)

ลักษณะประจำพันธุ์

เปรียบเทียบลักษณะต่างๆ ระหว่างพันธุ์พิษณุโลก 2 กับ พันธุ์อู่ทอง 2

ลักษณะ พันธุ์พิษณุโลก 2 พันธุ์อู่ทอง 2
ขนาดใบ ปานกลาง ใหญ่
การล้ม ปานกลาง มาก
อายุดอกบาน (วัน) 33 39
อายุเก็บเกี่ยว (วัน) 77 86
ความสูง (ซม.) 57 72
เมล็ดต่อฝัก 7 7
นน. 1,000 เมล็ด (กรัม) 50 44
ผลผลิต (กก./ไร่)
    - ฤดูแล้ง (ม.ค.)
190 171
    - ฤดูฝน (ส.ค.)
229 238

องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ด (% ต่อน้ำหนัก)

แป้ง 43 40
โปรตีน 24.8 26.6
เยื่อใย 4.0 5.8
น้ำตาล 5.4 4.0

วิธีปลูกและอัตราปลูก
- โรยเป็นแถว ระยะแถว 50 ซม. จำนวน 20 ต้นต่อแถว ยาว 1 เมตร จะได้จำนวน 64,000 ต้น/ไร่
- หว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา 5-7 กก./ไร
- การปลูกในนาตามหลังข้าว ต้องให้น้ำจนถึงเริ่มมีฝักแก่ หรือประมาณ 2 เดือน และควรมีร่องสำหรับระบายน้ำ

การดูแลรักษา

วัชพืชทำให้ผลผลิตลดถึง 40% จึงควรมีการกำจัดวัชพืช ถ้าปลูกเป็นแถว ควรมีการดายหญ้า 1-2 ครั้ง หรือใช้สารเคมีประเภทก่อนงอก เช่น แอสโซหรือดูอัล พ่นคุมหลังจากปลูก สำหรับการหว่านอัตราต่ำ (5 กก./ไร่) ควรพ่นสารเคมีคุมด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหว่านหนาอาจไม่ต้องใช้สารเคมีก็ได้

แมลงศัตรูที่สำคัญ

1. หนอนแมลงวันเจาะลำต้น เริ่มทำลายตั้งแต่ถั่วเขียวมีใบจริงคู่แรก ตัวหนอนจะไชชอนและกัดกินภายในลำต้น ในแหล่งที่ปลูกเป็นประจำควรปลูกถั่วเขียวให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดการป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง ควรพ่นด้วยสารประเภทดูดซึม เช่น คาร์โบซัลแฟน 20% อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

หนอนแมลงวันเจาะลำต้น

2. หนอนเจาะดอกและฝัก เป็นแมลงที่สำคัญที่สุดของถั่วเขียวผิวมันและผิวดำในปัจจุบันทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100% ตัวหนอนไชชอนเข้าไปกัดกินภายในดอกและฝัก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการป้องกัน ฉะนั้นในแหล่งที่มีแมลงศัตรูนี้ระบาดอยู่เป็นประจำควรหมั่นดูแลถั่วอยู่เสมอโดยเฉพาะในระยะออกดอก หากพบการทำลายเฉลี่ยมากกว่า 1 ดอกต่อถั่ว 1 ต้น ควรพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส 56% อัตรา 40-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือไซฮาโลทริน แอล 5% อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บเกี่ยวเมื่อมีฝักแก่ 90% ซึ่งถั่วจะมีอายุประมาณ 77-80 วัน ไม่ควรทิ้งไว้ในแปลงนานจะทำให้คุณภาพต่ำและติดเชื้อรา ซึ่งเมื่อนำไปเพาะเป็นถั่วงอกแล้ว ทำให้ถั่วงอกเน่า

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว พิษณุโลก 2 ไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติได้นานถึง 10 เดือน โดยความงอกไม่เปลี่ยนแปลง

แหล่งเมล็ดพันธุ์

ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ตู้ ปณ. 9 จ.ชัยนาท 17000 โทร. (056) 411857
สถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก 65130 โทร. (055) 311368
สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย 64120 โทร. (055) 681384
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จ. ชัยนาท โทร. (056) 411356
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จ.พิษณุโลก โทร. (055) 311618
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 15 จ. นครสวรรค์ โทร. (056) 221766