โรคที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารเนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์แม้ว่าจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ถ้าผู้บริโภคบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ หรือสารเคมีที่เป็นพิษก็จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งอันตรายที่จะเกิดจะมีความรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการคือ
1. ภูมิต้านทานของผู้บริโภค
2. ชนิด และจำนวนของเชื้อโรค หรือสารเคมีที่ได้รับ

เราอาจแยกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจากอาหารเนื้อสัตว์ปนเปื้อนได้ดังนี้

  1. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. เกิดจากเชื้อไวรัส
  3. เกิดจากพยาธิ
  4. เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย
  5. เกิดจากสารพิษ จากเชื้อรา, หรือจากเชื้อโรคทีปนเปื้อน
  6. เกิดจากสารพิษในเนื้อสัตว์บางชนิด
  7. เกิดจากสารเคมีปนเปื้อน
สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคจากการบริโภคเนื้อสัตว์มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งตามธรรมชาติของเนื้อสัตว์จะเป็นแหล่งอาหารของเชื้อโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเชื้อโรค ซึ่งมาตรการในการควบคุมเชื้อโรคเหล่านี้ไม่ให้เจริญเติบโตและแพร่กระจายโดยการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บเนื้อสัตว์ และใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อโดยในเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านความร้อนควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรค และเนื้อสัตว์ที่เราจะนำมาบริโภคควรผ่านความร้อนจนสุก และควรอุ่นอาหารให้สุกก่อนการบริโภค เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ตามแผนภูมิที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับสภาวะของเชื้อโรค ณ อุณหภูมินั้น
นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องของการปนเปื้อนของเชื้อโรคแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสารพิษที่มีอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์บางชนิด และสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์เนื่องจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ หรือการปนเปื้อน หรือปรุงแต่งของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญและหันมาปกป้องผู้บริโภค