พืชผลชนิดต่าง ๆ จะติดผลหรือมีเมล็ดไว้ใช้ขยายพันธุ์ต่อไปได้
จะต้องมีการผสมเกสร ต้นไม้บางชนิดเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่
ในดอกเดียวกัน ก็จะผสมกันเองได้ แต่ต้นไม้อีกหลายชนิดเกสรตัวผู้
และเกสรตัวเมียอยู่คนละดอกหรือคนละต้น จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นช่วย
ในการผสมเกสร ลมเป็นพาหะสำคัญช่วยพัดเกสรตัวผู้ไปตกบนยอด
เกสรตัวเมีย แต่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นไม้ทั้งหมดอาศัยสิ่งมี
ชีวิตชนิดอื่นในการผสมเกสร เช่น หอย ทาก แมงมุม ไร นก ค้างคาว
และแมลง เป็นต้น แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยในการผสมเกสรดอกไม้
มากที่สุด
แมลงที่จัดอยู่ในประเภท ภมร จะอาศัยเกสรเป็นอาหารที่

ให้โปรตีนและอาศัยน้ำหวานเป็นอาหารที่ให้พลังงานเกสรดอกไม้จะ
ติดตามตัวแมลงจากดอกหนึ่งไปอีกดอกหนึ่งในขณะที่แมลงลงกินเกสร
และน้ำหวานจากดอกไม้
พืชบางชนิดอาศัยแมลงชนิดเดียวในการผสมเกสร แต่พืชส่วน
มากอาศัยแมลงหลายชนิดไม่เฉพาะเจาะจง ผึ้ง จัดว่าเป็นแมลงช่วย
ผสมเกสรที่สำคัญที่สุด เพราะในแต่ละเที่ยวบินที่ออกหาเกสรหรือน้ำหวาน
ผึ้งจะไปที่ดอกไม้ของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดการปะปน
หรือสูญเปล่าของละอองเกสร ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก
มีผึ้งช่วยผสมเกสรนั้น เมื่อประเมินแล้วมีมูลค่าสูงกว่าน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์
อื่น ๆ จากรังผึ้ง ดังนั้นในปัจจุบันถือว่าผลิตผลหลักจากอุตสาหกรรม
การเลี้ยงผึ้ง คือการที่ผึ้งช่วยเพิ่มอัตราการติดผลให้แก่พืช ดังจะเห็น
ว่ามีการให้บริการเช่าผึ้งเป็นรัง ๆ ไปวางไว้เป็นแห่ง ๆ ในสวนผลไม้ใน
ช่วงเวลาที่ดอกไม้เริ่มบาน
แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้มีทั้งหมดในโลกมีประมาณ 30,000
ชนิด นอกจากผึ้งที่ให้น้ำผึ้ง แล้วยังมีแมลงชนิดอื่น ๆ อีกเช่น
- พวกผึ้งชนิดอื่น ได้แก่ ตัวชันโรง ผึ้งหึ่งบอมบัส ผึ้งกัดใบ
ผึ้งอัลคาไล แมลงภู่และผึ้งป่าชนิดต่าง ๆ
- พวกต่อ แตน ต่อเบียน แตนเบียน มด
- พวกแมลงวัน ได้แก่ แมลงวันผึ้ง แมลงวันหัวเขียว แมลงวัน
บ้าน เป็นต้น
- พวกด้วง ได้แก่ แมลงนูน ด้วงผลไม้ ด้วงถั่ว ด้วงงวง
- พวกมวนและเพลี้ยต่าง ๆ
- พวกผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ชนิดต่าง ๆ
แมลงผสมเกสรบางชนิดก็เป็นแมลงศัตรูสำคัญของพืชผลทาง
การเกษตร เช่น พวกด้วง พวกมวนและเพลี้ยต่างๆ ควรต้องพิจารณา
ชั่งน้ำหนักดูในแต่ละสถานการณ์ว่าแมลงเหล่านี้ให้ประโยชน์หรือโทษ
จะได้ปฏิบัติการอย่างถูกต้องเพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่มนุษย์เรา
ปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อผึ้งและแมลงผสมเกสร ก็คือ
การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ สารเคมีฆ่าแมลง สารเคมีกำจัด
วัชพืช และสารป้องกันกำจัดโรคพืช สารเคมีฆ่าแมลงจัดว่าเป็นสาร
ที่มีอันตรายต่อผึ้งมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีสารเคมีฆ่า
แมลงชนิดต่าง ๆ ทั้งถูกตัวตาย กินตาย หรือสารรมควัน ซึ่งล้วนแล้ว
แต่มีอันตรายร้ายแรงต่อผึ้งทั้งนั้น และยังได้พัฒนาวิธีการใช้ให้ได้ผลดี
ครอบคลุมเนื้อที่กว้างขวางขึ้น เช่น การพ่นสารเคมีทางอากาศเพื่อควบคุม
แมลงศัตรูพืชไร่ แมลงศัตรูป่าไม้ เป็นต้น ทำให้ผึ้งและแมลงผสมเกสรใน
บริเวณนั้นถูกทำลายไปด้วย ผลของสารพิษในสารเคมีฆ่าแมลงมิใช่จะ
เพียงทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่มีผลในแง่การผสมเกสร
ด้วย คือถ้าฉีดพ่นในช่วงดอกไม้บาน สารพิษจะทำลายความงอกของ
เรณู ซึ่งทำให้การติดผลหรือเมล็ดของพืชลดลงอย่างมากด้วย
เกษตรกรจึงควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจในเรื่องการ
ใช้สารเคมีฆ่าแมลงพยายามใช้อย่างมีขอบเขตเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เลือกใช้ชนิดที่มีพิษตกค้างสั้น และมีพิษเจาะจงกับแมลงที่ต้องการ
ทำลายเท่านั้น ใช้สารที่ไม่มีพิษต่อผึ้งหรือลดความเข้มข้นของสารเคมี
ที่ใช้ลงบ้างในช่วงดอกไม้บาน การฉีดพ่นควรกระทำในตอนเย็นพลบค่ำ
หรือเช้าตรู่
ไม่ควรฉีดพ่นในช่วงที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรออกหาอาหาร
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีใกล้กับบริเวณที่มีการเลี้ยง
ผึ้งควรคลุมรังผึ้งด้วยผ้ากระสอบเปียกชื้น ในขณะฉีดพ่นและหลังฉีดพ่น
จนกว่าจะแน่ใจว่าพิษของสารเคมีสลายไปแล้ว ความร่วมมือระหว่าง
ชาวสวนชาวไร่และเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดผลดีกับ
ทุกฝ่าย ข้อปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นหากได้กระทำอย่างเคร่งครัดโดยสม่ำเสมอ
จะช่วยป้องกันอันตรายอันจะเกิดกับผึ้งและแมลงผสมเกสร ซึ่งการ
อนุรักษ์แมลงเหล่านี้ช่วยให้สารเคมีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขึ้นได้
เป็นอย่างมาก