โรคจู๋ หรือ โรคใบหงิก เกิดจากเชื้อไวรัสไม่ติดต่อทางเมล็ด ดิน น้ำ ลม หรือทางสัมผัสมันจะถูกถ่ายทอดหรือติดต่อเข้าสู่ต้นข้าวได้โดยแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล" เท่านั้น เมื่อแมลงดูดอมเชื้อไวรัสเข้าสู่ตัวมัน เชื้อไวรัสจะฟักตัวในแมลงนานประมาณ 8 วัน โดยเฉลี่ย จึงออกฤทธิ์คือเมื่อแมลงที่อมเชื้อไปดูดกินต้นข้าวดีก็จะถ่ายทอดเชื้อไวรัสเข้าสู่ต้นข้าว และหลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์เป็นอย่างเร็ว จนถึง 1 เดือน เป็นอย่างช้า ต้นข้าวที่ได้รับเชื้อก็จะเริ่มแสดงอาการ "โรคจู๋" เกิดกับข้าวทุกระยะการเจริญเติบโต อาการจะปรากฎหลังจากต้นข้าวได้รับเชื้อแล้ว 15-30 วัน โดยเฉพาะต้นข้าวอายุตั้งแต่ 15 ถึง 45 วัน ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะแสดงอาการรุนแรงมาก ส่วนต้นข้าวอายุไม่เกิน 60 วันขึ้นไป แม้จะได้รับเชื้อและแสดงอาการก็ไม่ค่อยรุนแรงนัก

ลักษณะอาการ

อาการของต้นข้าวที่เป็นโรคจู๋จะสังเกตได้ง่ายคือ ข้าวต้นเตี้ย (สั้นจู๋) ไม่พุ่งสูงเท่าที่ควร ใบสีเขียวเข้ม แคบและสั้น ใบใหม่จะแตกช้ากว่าปกติ และเมื่อพุ่งขึ้นมาดูไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลายใบจะบิดเป็นเกลียว เป็นลักษณะเด่นที่เรียกว่า โรคใบหงิก นอกจากนี้จะสังเกตเห็นขอบใบแหว่งวิ่น และเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวเป็นโรคจู๋จะออกรวงล่าช้า และให้รวงไม่สมบูรณ์ รวงให้เมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่อย่างที่ชาวนาเรียกว่าไม่มีเนื้อ และเมล็ดที่สมบูรณ์ก็มักจะด่างเสียคุณภาพเป็นส่วนมาก ข้าวเป็นโรคจู๋จะทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 1/3 ถึง 2/3 และถ้ามีโรคแทรกเข้าซ้ำเติม เช่น โรคเมล็ดด่างและโรคใบขีดสีน้ำตาล ซึ่งทั้งสองโรคนี้มักจะพบเสมอกับข้าวที่เป็นโรคจู๋ อาจทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 100 %

การป้องกันและกำจัด

1. กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสสาเหตุโรคจู๋นี้นอกจากจะมีฤทธิ์ดำรงชีพอยู่ในตัวแมลงแล้ว ยังแพร่ขยายปริมาณอยู่ตามตอซังข้าว และพืชอาศัย เช่น ข้าวป่าและหญ้าบางชนิดซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดข้ามฤดูอย่างต่อเนื่อง จึงควรจัดการทำลายแหล่งพืชอาศัยของเชื้อเป็นประการแรก คือ เร่งไถกลบหรือเผาตอซังในนาข้าวที่เป็นโรค ดูแลกำจัดวัชพืชในนาสม่ำเสมอโดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยขยายพันุ์แมลงพาหะ
2. ป้องกันข้าวติดเชื้อโดยใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน ในแหล่งที่เคยมีประวัติการระบาดโรคจู๋มาก่อน ชาวนาควรใช้พันธุ์ต้านทานที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าว กข9, กข 21, กข23, และ กข25 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานการดูดกินของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดีพอสมควร
3. ป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (แมลงพาหะ) หลังจากปฏิบัติตาม ขั้นตอนข้อ 1 และ 2 ดีแล้ว ก็อย่าเพิ่งนอนใจ ชาวนาโดยเฉพาะในแหล่งที่มีโรคจู๋ระบาดรุนแรง ควรเอาใจใส่ตรวจตรา อย่าให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนำเชื้อเข้าสู่แปลงนาได้ วิธีการนี้จำเป็นต้อง ใช้สารเคมีเข้าช่วย เริ่มใช้ตั้งแต่ระยะกล้าโดยใช้สารเคมีประเภทดูดซึมประเภทคาร์โบฟูราน หรือสารประเภทเดียวกันตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หว่านในแปลงกล้าอัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ก่อนหว่านกล้าหรือหลังข้าวงอกแล้ว 3-4 วันก็ได้ เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอระหว่างนี้ชาวนาควรหมั่นตรวจดูในแปลงว่ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อยู่ในแปลงบ้างหรือไม่ถ้าหากพบเพียง 2-3 ตัวต่อต้น ในเนื้อที่แปลง 1 ตารางเมตร ก็จงรีบใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นทำลายทันที สารประเภทฆ่าแมลงโดยตรงนี้ก็มีด้วยกันหลายชนิด ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อาทิเช่น มิปซิน 50% อีโทรโฟราน 50% บาสซ่า 50% ไบร์คาร์บ 50% ฮอฟซิน 50% และฟอสซ์ 20% พ่นสารนี้ประมาณ 1-3 ครั้ง แล้วแต่จำนวนแมลง ถ้าไม่พบแมลงเลยก็ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่น การฉีดพ่นทิ้งช่วงประมาณ 7 วัน/ครั้ง ก็เป็นอันหมด ช่วงป้องกัน 30 วันแรก ต่อมาในช่วง 30 วันหลังก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ การปฏิบัติดังกล่าวนี้ใช้ได้ทั้งในแปลงนาดำและแปลงนาหว่านทุกประเภท

หมายเหตุ

การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชทุกชนิดควรระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ เกษตรกรที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หน่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์