การปลูกมะขามเทศถือว่าเป็นวิธีบำรุงดินแนวทางหนึ่ง, เนื่องจากความเป็นพืชตระกูลถั่ว, มีใบไม่ใหญ่เกินไปจึงสลายตัวได้ง่ายเมื่อฝนตกหรือเปียกชื้น เราอาจปลูกมะขามเทศเพื่อหวังการขายฝักมะขามเทศมัน เช่น พันธุ์ฝักใหญ่ไร้หนาม, ซึ่งฝักใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้น, การผลิตอาหารเลี้ยงต้นได้มากก็ต้องมีใบมาก, เราก็ปล่อยให้ทั้งต้นมีใบมาก แต่เมื่อมีใบรุ่นใหม่ทดแทนเพียงพอแล้ว ใบแก่ก็จะค่อย ๆ ร่วงหล่นลงพื้นใต้ต้น เราก็กวาดทั้งใบแห้งผสมกับเศษดิน, และปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ ไปตากแห้งแล้วบรรจุถุงขายได้

หรือปลูกมะขามเทศตามแนวรั้ว, ตามคันนา, ใบที่ร่วงหล่นลงไปในไร่นาก็ทำหน้าที่เป็นวัถตุบำรุงดินโดยอัตโนมัติ สำหรับป่าที่เสื่อมโทรมรอการฟื้นฟูสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ให้มากขึ้นโดยการใช้เมล็ดมะขามเทศหว่านกระจายไปบาง ๆ ในส่วนป่า พอได้ฝนเมล็ดก็จะงอกแล้วแทงต้น สูงขึ้นมารับแสงแดดเบื้องบน ใบของมะขามเทศจะกลายเป็นอาหารสัตว์ในกรณีของมะขามเทศหนามกุดหรือหนามนิ่มหรือไร้หนาม

เมื่อเติบโตพอก็ออกฝักกลายเป็นอาหารของนก ค้างคาว หนู กระรอก กระแต และของคน เมื่ออยู่ในป่าก็เพิ่มสีสันของป่าโดยมีสัตว์ต่าง ๆ มาคอยกินฝักแก่ นกจะรู้ดีและเลือกลงกินต้นที่มีรสมัน, หรือฝักมีรสฝาดน้อย การปลูกเป็นการค้าจึงต้องมีการขับไล่นกเอี้ยงและนกอื่น ๆ ที่ลงมาแย่งกินผลผลิต แต่ในสวนนกนั้นการปลูกมะขามเทศมันไว้จะได้ทั้งอาหารนก, และการบำรุงดินรอบข้างไปพร้อมกันถ้าป่าต้นน้ำมีพืชถั่วมาก, น้ำก็มีปุ๋ยมากด้วย