1. เตรียมวัสดุเพาะ โดยนำเปลือกถั่วเขียวไปแช่น้ำ ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาเทกองรวมกันคลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้เปลือกถั่วเขียวนิ่มและมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเปื่อยสลายได้ ระวังอย่าให้มีเชื้อราขึ้นบนเปลือกถั่วเขียวจะเพาะเห็ดฟางไม่ได้ผล เปลือกถั่วเขียว 1 กระสอบข้าวสาร สามารถเพาะเห็ดฟางได้ 10-12 กอง (แบบไม้)
2. เตรียมสถานที่ ที่จะเพาะ โดยปรับพื้นที่ให้เรียบแล้วพรวนดินแบบทำแปลงผัก ย่อยดินให้แตกร่วนเพราะการเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้ ดอกเห็ดฟางจะเกิดบนดินและควรกำจัดวัชพืชออกด้วย จากนั้นจึงตักน้ำรดให้ชุ่มทิ้งไว้หนึ่งคืน
3. เตรียมอาหารเสริม ปริมาณขึ้นสถานที่กล่าวคือถ้าเป็นดินที่ไม่เคยทำสวนผักมาก่อน ให้ใช้ละอองข้าวผสมมูลควายเป็นอาหารเสริม 4 ปี๊บต่อเปลือกถั่วเขียว 25 กอง แต่ถ้าเป็นดินที่เคยทำสวนผักมาก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก อาจใช้ละอองข้าวอย่างเดียวประมาณ 3 ปี๊บก็เพียงพอ นำอาหารเสริมมาคลุกเคล้ากับน้ำแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้หนึ่งคืนเช่นกัน โดยปกติควรจะเตรียมวัสดุเพาะอาหารเสริมและสถานที่ ในตอนเย็น แล้วพักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงจะดำเนินการต่อไป
4. วางแบบไม้ลงบนแปลงที่เตรียมไว้ แล้วโรยอาหารเสริมไปตามขอบด้านในของแบบไม้ นำเปลือกถั่วเขียวที่เตรียมไว้เทลงในแบบไม้ ใช้ไม้กดเปลือกถั่วเขียวให้แน่นโดยมีความสูงประมาณหนึ่งฝ่ามือ (ประมาณ 12-15 เซนติเมตร)
5. ยกแบบไม้ออก แล้วทำกองต่อไปให้ห่างจากกองแรกประมาณหนึ่งฝ่ามือ ทำเหมือนกับกองแรก ควรทำ 25 กองต่อ 1 แปลง เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ในกรณีที่ทำแปลงละ 25 กอง จะใช้เปลือกถั่วเขียว 2 กระสอบครึ่ง เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุง (ขนาดถุงละประมาณ 2 ขีด) ส่วนอาหารเสริมแล้วแต่สภาพของดิน
6. เมื่อสร้างกองเสร็จแล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางลงบนดินระหว่างกองและรอบ ๆ กอง แต่ไม่โรยบนกองเปลือกถั่วเขียว ใช้เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุงต่อ 25 กอง แล้วโรยอาหารเสริมทับลงบนเชื้อเห็ดฟางอีกที โดยโรยบาง ๆ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ให้โรยหนากว่าเล็กน้อย แต่อย่าให้เกิน 1 เซนติเมตร
7. รดน้ำกองเพาะให้ชุ่ม แต่อย่าให้โชกจนน้ำไหลนอง เพราะน้ำจะพาเอาเส้นใยเห็ดไหลไปที่อื่น
8. ใช้ผ้าพลาสติกคลุมกองให้มิดชิด เพื่อทำให้เกิดความร้อนซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง
9. ใช้ฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้งคลุมบนผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง โดยคลุมให้หนา ๆ เพื่อป้องกันแสงเข้าไปในกองเพาะและช่วยรักษาความชื้นของกองเพาะอีกด้วย