วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ฝักกระเจี๊ยบเขียว จะเกิดการเหี่ยวหรือชอกช้ำได้ง่าย เนื่องจากเก็บเกี่ยวในระยะฝักอ่อน มีอัตราการตายใจสูง การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติต่าง ๆ หลังจากเก็บฝักแล้วจึงต้องทำอย่างปราณีตั้งแต่วิธีการเก็บจนถึงการเลือกภาชนะบรรจุหีบห่อ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว
1. มีดเล็กหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งซึ่งต้องคมเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ช้ำ
2. ถุงมือผ้าและถุงมือยางเพราะกระเจี๊ยบเขียวมีขนซึ่งระคายเคืองผิวหนังมาก
3. ภาชนะที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว นิยมใช้ถังพลาสติก ซึ่งมีขนาดเล็ก 2-3 กิโลกรัมไม่ควรใหญ่กว่านี้
4. ภาชนะที่ใช้บรรจุผลผลิตและขนส่ง ควรให้ตะกร้าพลาสติกบรรจุฝักซึ่งมีรูระบายอากาศโดยรอบ เกษตรกรนิยมใช้เข่งไม้บุด้วยฟองน้ำบางและถุงปุ๋ย ซึ่งกันกระทบกระแทกได้พอควรแต่มีข้อเสีย คือ จะอับร้อนมาก ถ้ารอการขนส่งนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จึงควรทำการเจาะรูให้ระบายอากาศได้โดยรอบ ขนาดบรรจุของเข่งหรือตะกร้าไม่ควรเกิน 12 กิโลกรัม

วิธีเก็บเกี่ยว

1. ควรเก็บเกี่ยวเวลาเช้าตรู่ 6-9 นาฬิกา ใช้มีดหรือกรรไกรตัดกระเจี๊ยบเขียวทีละฝัก อย่าตัดหลายฝัก วางในภาชนะอย่าโยน การตัดขั้วต้องตัดให้ตรง มีก้านติดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และอย่าให้เป็นปากฉลาม ซึ่งจะขีดข่วนหรือทำให้ฝักอื่นเสียหายมาก เมื่ออยู่ในภาชนะบรรจุ
2. ภาชนะบรรจุผลผลิตต้องวางไว้ในที่ร่มเสมอ เช่น ใต้ร่มไม้ ถ้าไม่มีควรใช้ร่มกาง อย่าทิ้งไว้กลางแดด และรีบน้ำเข้าโรงพักผลผลิตโดยเร็วโรงพักผลผลิตควรมีลักษณะโปร่งอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อับทึบ อาจจะเป็นชั้นมีหลังคา ใต้ถุนบ้านหรือเพิงก็ได้

การขนส่ง

รีบขนส่งโดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรนานกว่า 2 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว และไม่วางภาชนะซ้อนกัน ระหว่างขนส่ง รถขนส่งถ้าไม่มีห้องเย็นควรโปร่งไม่ปิดทึบ

การคัดการบรรจุหีบห่อและการแปรรูป

1. การลดอุณหภูมิของผลผลิตจากแปลงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ซึ่งต้องทำก่อนการบรรจุหีบห่อ โดยการล้างด้วยน้ำเย็นที่สะอาดจำนวนมาก แช่กระเจี๊ยบเขียวให้อุณหภูมิลดลงเหลือ 10-15 องศาเซลเซียส น้ำล้างอาจผสมคลอรีน 200 พีพีเอ็ม เพื่อฆ่าเชื้อโรค
2. ผึ่งให้แห้ง ในกรณีต้องรอการคัดเลือกและบรรจุนาน ควรนำเข้าห้องเย็น
3. สำหรับการส่งออกสดนำออกมาคัดเกรดและบรรจุลงในถุงตาข่ายไนล่อนและกล่องกระดาษ การส่งออกสดไปยังประเทศในกลุ่มยุโรป นิยมใส่ถาดโฟม เก็บรักษาในห้องเย็นเพื่อรอการขนส่งต่อไป