ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่งไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูน ซึ่งตัวปะการังสามารถสร้างขึ้นมาเอง โดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล

ปะการังมีการสืบพันธุ์สองแบบคือ แบบอาศัยเพศ ซึ่งตัวอ่อนจากไข่ที่ถูกผสมแล้ว จะลอยไปในน้ำเพื่อลงเกาะในที่แห่งใหม่ แบบไม่อาศัยเพศ โดยวิธีการแตกหน่อจากตัวเดิม ทำให้ก้อนปะการังมีขนาดใหญ่ขึ้น ปะการังที่เกาะทับถมกันนานนับร้อย ๆ ปีเป็นแนวหินปูนใต้น้ำ เรียกว่า "แนวปะการัง"

แนวปะการัง คือระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลที่สำคัญมาก เพราะเป้นแหล่งที่อยู่อาศัย หลบภัย และเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น สาหร่ายทะเล หญ้าทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล กุ้ง ปู หอย ปลาดาว ปลิงทะเล และปลานานาชนิด ประเทศไทยมีแนวปะการังอยู่มากตามชายฝั่งของเกาะต่าง ๆ และมีความงดงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

คุณประโยชน์ของแนวปะการัง

  1. เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
  2. เป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการ
  3. เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่หายกและใกล้สูญพันธุ์
  4. เป็นกำแพงป้องกันชายฝั่งจากคลื่นลม และกระแสน้ำ
  5. เป็นแหล่งทดลอง ศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม
  6. สามารถนำสารสกัดเป็นยา เช่น ยาต่อต้านมะเร็งและจุลชีพ ทำน้ำยาป้องกันการผลึกของแข็ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข

    การทำลายปะการัง

    ปะการังถูกทำลายและเสื่อมสลายเป็นเหตุให้ ระบบนิเวศน์ขาดสมดุล จำแนกได้ 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ
    มนุษย์ มนุษย์ได้จับสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการังมาใช้ประโยชน์โดยไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ระเบิด สารเคมี ลอบ ฉมวก ยิงปลาและสัตว์อื่น ๆ นอกจากนี้คือการทำเหมืองแร่ การทิ้งของเสีย การท่องเที่ยว และการทิ้งหรือถอนสมอเรือ
    ธรรมชาติ ธรรมชาติทำลายปะการัง ได้แก่ พายุ สัตว์มีชีวิต (เพรียง หอยเม่น ปลานกแก้ว ปลาผีเสื้อ) และสัตว์ที่กินปะการัง (ปลาดาวหนาม หรือดาวมงกุฏหนาม หอยสังข์หนาม)

    การอนุรักษ์

    เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังให้มีผลผลิตต่อเนื่อง และยั่งยืนตลอดไป จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุก ๆ คน และทุก ๆ ฝ่าย ทั้งประชาชน ภาครัฐบาล เอกชน และองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแนวปะการังให้มีความอุดมสมบูรณ์ อันจะเสริมสร้างธรรมชาติให้สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่สุด