ถั่วฝักยาวเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค ทั้งปรุงอาหาร และเป็นผักสด สามารถปลูกถั่วฝักยาวได้แทบทุกภาคของประเทศไทย มีทั้งส่งขายในประเทศ และประเทศใกล้เคียงในรูปของผักสด ส่วนในตลาดที่ไกลออกไปจะส่งในรูปผักสดแช่แข็ง
อุปสรรคสำคัญในการปลูกถั่วฝักยาว คือ โรคถั่วฝักยาว ซึ่งจะทำให้คุณภาพและผลผลิตลดลง จนไม่สามารถส่งขายได้ โรคที่สำคัญได้แก่
โรคราเขม่า
โรคราแป้ง
โรคราสนิม
โรคใบด่าง

โรคราเขม่า

เกิดจากเชื้อรา สูโดเซอร์คอสปอรา
อาการ
มักปรากฎอาการที่ใบแก่ตอนโคนต้นใบด้านบนจะเป็นปื้นสีขาวซีด เป็นดวง ๆ พลิกดูใต้ใบจะพบคล้ายผงเขม่าสีเทาดำ เมื่อระบาดรุนแรงจะพบผงเขม่ามากขึ้น แผลใหญ่ขึ้น ใบจะแห้งและหลุดร่วงไป แล้วลุกลามขึ้นด้านบนทำให้ใบที่อยู่กลาง ๆ ต้นเป็นโรคด้วย ทำให้ต้นถั่วโทรมเร็วและผลผลิตลดลง
โรคราเขม่า ด้านหลังใบมองเห็นผงเขม่าชัดเจน

อาการรุนแรงของโรคราเขม่า
การป้องกันกำจัด
1. ลดความชื้นในแปลงปลูกโดยเพิ่มระยะปลูกให้ห่างขึ้นหรือลดจำนวนต้นต่อหลุม
2. เมื่อพบเริ่มแรก ควรรีบเก็บใบที่เป็นโรคเผาทำลาย หมั่นตรวจดูบริเวณส่วนล่างของต้นและใบในทรงพุ่ม เพื่อจะได้ป้องกันได้ทันที
3. ถ้าพบมากขึ้น แนะนำให้ใช้สารเคมีประเภทแมนโคเซปฉีดพ่นสลับกับเบนโนมิลหรือคาร์เบนดาซิม
4. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรทำความสะอาดแปลงปลูกทันที

โรคราแป้ง

เกิดจากเชื้อรา ออยเดียม
อาการ
จะพบผงสีขาว ทั้งด้านใต้ใบและบนใบ ถ้าเป็นมากผงสีขาวจะหนาแน่นมองเห็นชัดเจน เมื่อเอามือลูบจะหลุดออกเป็นแผ่น จะพบมากบริเวณโคนต้น แล้วลุกลามขึ้นด้านบน และผงสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และระบาดโดยปลิวไปตามลม
โรคราแป้ง อาการรุนแรงของโรค

การป้องกัน
1. ไม่ควรเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นเป็นโรคไปทำพันธุ์
2. ควรรดน้ำต้นถั่วให้เปียกทั่วใบอย่างสม่ำเสมอ เพราะส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราแป้งนี้จะไม่งอก ถ้ามีละอองน้ำมาก ๆ
3. แปลงที่มีประวัติการระบาดของโรคนี้ ควรพ่นสารป้องกันจำพวกกำมะถันผงละลายน้ำ หรือคาราเทน ควรพ่นในตอนเย็นที่หมดแดดแล้ว (สารดูดซึมอื่น ๆ มีอีกหลายชนิดแต่ราคาแพงไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ในฤดูที่ถั่วฝักยาวมีราคาสูง อาจใช้สารประเภทดูดซึมฉีดพ่นก็ได้)
4. แปลงที่เป็นโรคมากควรรื้อและเผาทำลายทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป

โรคราสนิม

เกิดจากเชื้อรา ยูโรมายเซส
อาการ
จะพบที่ใบแก่เป็นส่วนมาก โดยมีตุ่มนูนขนาดเล็ก ๆ สีเหลืองซีด ตรงกลางตุ่มมีแผลแตก ซึ่งจะมีผงสีสนิมเหล็กเกาะอยู่เป็นกลุ่ม เมื่อโรคระบาดมากขึ้น จำนวนจุดต่อไปจะมากขึ้นลุกลามจากส่วนล่าง ๆ สู่ส่วนบนของต้น และใบที่เป็นมากจะเหลืองและร่วงหล่นไป มักจะพบอยู่เสมอในทุก ๆ แหล่งที่มีการปลูกถั่วฝักยาว
โรคราสนิม

การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจดูแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะใบในทรงพุ่มและใบแก่ตอนล่างของต้น
2. ถ้าพบโรคนี้ ควรพ่นด้วยสารจำพวกกำมะถันผง ละลายน้ำ หรือสารประเภทแมนโคเซป
3. แปลงปลูกที่ทรุดโทรมแล้ว ควรรีบรื้อออกและเผาทำลายเพื่อตัดต้นตอของโรคที่จะระบาดในการปลูกครั้งต่อไป

โรคใบด่าง

เกิดจากเชื้อวิสา มีแมลงปากดูดเป็นพาหะ
โรคใบด่าง
อาการ
จะพบโรคใบด่างได้ทั่วทุกแปลงที่ปลูกถั่วฝักยาว อาการคือใบจะด่าง สีเหลืองสลับเขียวอ่อนและขาวซีด จะเห็นได้ชัดเจนโรคนี้จะแพร่กระจายโดยติดไปกับเมล็ดพันธุ์หรือแมลงปากดูด ถ้าเป็นกับต้นถั่วที่ยังเล็ก จะไม่ให้ผลผลิต
การป้องกันกำจัด
ยังไม่มีคำแนะนำในเรื่องการใช้สารเคมี แต่มีแนวทางป้องกันโดยเริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ จากต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ กำจัดต้นที่เป็นโรคทิ้งไป และพ่นสารเคมีป้องกันแมลงปากดูด เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคนี้