ซึ่งอาการที่สัตว์ป่าแสดงออกนั้น สามารถตรวจพบได้โดย

3.1 การซักถามจากคนเลี้ยงสัตว์ การซักถามอาการของสัตว์จากคนเลี้ยงสัตว์นั้น จะมีความเชื่อถือได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนเลี้ยงสัตว์ ถ้ารักสัตว์เลี้ยงของตนเองมากก็จะเล่าอาการป่วยของสัตว์มากเกินความจริง หรือถ้าไม่สนใจสัตว์เลี้ยงของตนเองคนเลี้ยงก็ยังคงไม่กล้าเล่าอาการป่วยจริงอีก เพราะกลับจะถูกต่อว่า ว่าไม่สนใจสัตว์ปล่อยให้สัตว์ป่วยหนักแล้วจึงมาแจ้ง ส่วนมากคนเลี้ยงสัตว์ประเภทหลังนี้ จะบอกว่าสัตว์เพิ่งป่วย ถึงแม้ว่าความจริงสัตว์ป่วยตัวนั้นจะป่วยมาแล้วหลายวันก็ตาม

3.2 การตรวจพบอาการได้จากการสังเกต อาการที่ตรวจพบได้นั้น ได้มาจากการสังเกตจากตัวสัตว์ป่วยประกอบกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวสัตว์ อาการที่สามารถตรวจพบได้ด้วยการสังเกตได้แก่ อาการซึม เบื่ออาหารไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้อย น้ำมูกไหล ขี้ตากรัง หายใจลำบาก หรือหายใจแรง ไอหรือจาม น้ำลาสไหล ปลายจมูกแห้ง ผิวหนังซีดขาวหรือหยาบแห้งไม่เป็นมัน ขนยาวไม่เป็นมัน การเดิน-นั่ง-นอนผิดปกติ อุจจาระเป็นเม็ด (ยกเว้นกระต่าย) หรือเหลวเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปนออกมาด้วยปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หรือขุ่น หรือมีเลือดปน เป็นต้น

3.3 การตรวจพบอาการได้โดยการใช้มือสัมผัส อาการที่ตรวจพบได้โดยการใช้มือสัมผัส ได้แก่ อาการไข้ (โดยใช้หลังมือแนบที่บริเวณหลังหู หรือบริเวณขาหนีบของสัตว์) หรือบริเวณที่มีการบวมเพื่อตรวจดูว่าเป็นฝีหรือเนื้องอกหรือบริเวณท้องของสัตว์ที่มีอาการบวม เพื่อดูว่าเป็นฝีหรือไส้เลื่อน เป็นต้น

3.4 การตรวจพบอาการไข้โดยการใช้ปรอทวัดไข้ ปรอทวัดไข้สามารถบอกให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบว่าสัตว์เลี้ยงของตนป่วยหรือไม่ และช่วยให้ผุ้เลี้ยงสัตว์ทราบว่ายาที่ใช้รักษานั้นออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคในตัวสัตว์ได้ดีแค่ไหน การใช้ปรอทวัดไข้ยังสามารถช่วยบ่งบอกถึงระยะเวลาของการรักษาว่าจะรักษานานกี่วัน ถ้าการรักษาด้วยยารักษาโรคนั้นออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคในตัวสัตว์ได้ดีแล้ว อุณหภูมิของร่างกายสัตว์ป่วยก็จะลดลงเป็นปกติในวันต่อมา และให้ทำการรักษาต่ออีก 2 วัน และถ้าอุณหภูมิของร่างกายสัตว์ป่วยลดลงเป็นปกติในวันที่ 2 หรือวันที่ 3 ให้ทำการรักษาต่ออีก 2 วันเช่นกัน แต่ถ้าสัตว์ยังคงมีอาการไข้เหมือนเดิมแสดงว่ายารักษาโรคนั้นใช้ไม่ได้ผล ระยะเวลาของการรักษาก็จะนานขึ้น

จากการตรวจหาอาการสัตว์ป่วยทั้ง 4 วิธีนั้น จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบว่าสัตว์ของตนป่วยหรือไม่ แต่ถ้ามีประสบการณ์และความรู้มากพอผู้เลี้ยงสัตว์ก็จะสามารถบอกได้ว่าสัตว์ของตนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบใดของร่างกายสัตว์ หรือป่วยเป็นโรคระบาดหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขได้ถูกต้องก่อนที่สัตว์จะตายหรือแก้ไขไม่ทัน

ถ้าผู้เลี้ยงสัตว์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้นแล้ว สัตว์ที่เพิ่งเริ่มป่วยก็จะไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องในทันที ซึ่งอาจจะมีผลทำให้สัตว์บางตัวตายและบางตัวป่วยเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายสามารถต่อสู้เชื้อโรคได้บ้าง จึงอาจไม่ถึงตายแต่จะแสดงอาการป่วยหนักออกมาให้เห็น ซึ่งในช่วงนี้การรักษาจะยากขึ้นและสัตว์ป่วยจะโตช้าและผอมลง