ข้าวเจ้าพลายงามปราจีนบุรี
ประวัติ
ลักษณะประจำพันธุ์
ลักษณะเด่น
คำแนะนำ
ข้อควรระวัง
ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ.2523 นายเพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ นักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีในสมัยนั้น ได้เก็บรวบรวมเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 2 กิโลกรัม จากตำบลประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี นำมาปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบหมู่ พร้อมทั้งทดสอบความต้านทานต่อโรคไหม้ ทดสอบความต้านทานต่อโรคและ แมลงในสภาพธรรมชาติ และทดสอบความสามารถในการขึ้นน้ำ เมื่อ พ.ศ.2524-2526 นอกจากนั้นยังได้นำ ไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตกับพันธุ์เล็บมือนาง 111 ในนาเกษตรกรตลอดจนทดสอบความทนทานต่อ สภาพดินเปรี้ยว ความทนแล้ง และนำเข้าแปลงทดลองเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี เมื่อ พ.ศ.2525-2526 หลังจากนั้นนำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตทั้งภายในสถานีและระหว่างสถานีเมื่อ พ.ศ. 2527-2529 แล้วจึงนำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ และคัดพันธุ์บริสุทธิ์เมื่อ พ.ศ. 2530-2532 เสร็จแล้วจึงได้ปลูกเป็นพันธุ์ดักและพันธุ์คัดเมื่อ พ.ศ.2532-2536 ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2537 และให้ชื่อว่า พลายงามปราจีนบุรี

ลักษณะประจำพันธุ์
ข้าวเจ้าพลายงามปราจีนบุรี เป็นข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง ความสูงเฉลี่ย 240 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่ กับระดับน้ำ) ใบสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง คอรวงยาว รวงยาวและแน่น ระแง้ถี่ การชูรวงดี เมล็ดข้าวเปลือก ยาวเรียวสีฟางขนาดยาว 10.6 มิลิเมตร กว้าง 2.8 มิลลิเมตรและหนา 2.1 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ขนาดยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.4 มิลลิเมตร และหนา 1.8 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง การร่วงของเมล็ดปานกลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณวันที่ 25 ธันวาคม และให้ผลผลิตประมาณ 380 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะพักตัวของเมล็ด 7 สัปดาห์

ลักษณะเด่น
  1. ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง
  2. ขึ้นน้ำได้ดี สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีระดับน้ำลึกตั้งแต่ 1-5 เมตร และท่วมขังนานกว่า 1 เดือน
  3. ทนแล้งได้ดี
  4. ต้านทานโรคไหม้ในระยะกล้าดี
  5. ไม่พบการทำลายของโรคและแมลงในสภาพธรรมชาติ
  6. ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ง่าย คุณภาพดี มีความนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม
คำแนะนำ
แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีระดับน้ำลึกมากกว่า 1 เมตร ท่วมขังเป็นเวลานานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปและน้ำแห้งนาปลายเดือนธันวาคม

ข้อควรระวัง
จากการทดสอบในสภาพเรือนทดลอง ไม่ต้านทานต่อโรคใบหงิก โรคใบสีส้ม เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล