ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1

ประวัติ
ลักษณะประจำพันธุ์
ลักษณะดีเด่น
ข้อควรระวัง
แหล่งแนะนำ

ประวัติ

ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวหอมพันธุ์นางมล เอส-4(แม่)ของไทย กับสายพันธุ์ไออาร์ 841-85-1-1-2 (พ่อ) ที่สถานีทดลองข้าวคลองหลวง เมื่อ พ.ศ.2526
พ.ศ. 2527-2532 ปลูปและคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ถึงชั่วที่ 8 จนได้สายพันธุ์ KLG83055-1-1-1-2-1-4
พ.ศ. 2533-2534 ปลูกศึกษาพันธุ์ และเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี
พ.ศ. 2535-2540 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถานีทดลอง ข้าวคลองหลวง บางเขน สุพรรณบุรีและราชบุรี
พ.ศ. 2537-2539 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาเกษตรกรที่จังหวัดปทุมธานี สระบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี และนนทบุรี พร้อมทั้งศึกษาเสถียรภาพของผลผลิต ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีและพิษณุโลก สถานี ทดลองข้าวคลองหลวง ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และโคกสำโรง
วันที่ 27 ตุลาคม 2540 กรมวิชาการเกษตรพิจารณาให้เป็นพันธุ์รับรอง โดยให้ชื่อว่า ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1

ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 นอกจากจะเป็นข้าวหอมที่มีคุณภาพในการหุงต้ม และรับประทานคล้าย ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้ว ยังมีลักษณะต้นเตี้ย ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง อีกทั้งยังค่อนข้างต้านทานโรค และแมลงที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว จึงเป็นพันธุ์ที่เหมาะ สำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวหอมให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ลักษณะประจำพันธุ์

  1. เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุนับจากวันตกกล้าถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 118 วัน เมื่อปลูกใน ฤดูนาปรัง และ 125 วันในฤดูนาปี
  2. ลำต้นค่อนข้างเตี้ย สูงประมาณ 110 ซม. ทรงกอตั้ง ฟางแข็ง ใบสีเขียว ใบธงยาวปานกลาง และค่อนข้างตั้ง คอรวงสั้น รวงยาวแน่น และระแง้ถี่
  3. เมล็ดข้าวเปลือกยาวเรียว สีฟาง บางเมล็ดก้นจุด ยาว 10.6 กว้าง 2.7 และหนา 2.0 มม. เมล็ดข้าวกล้องยาว 7.8 กว้าง 2.3 และหนา 1.8 มม. มีระยะพักตัว 5-6 สัปดาห์
  4. มีคุณภาพในการสีดี เมล็ดข้าวสารใส เป็นท้องไข่น้อย ทำข้าว 100 % ได้
  5. เป็นข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำ เมื่อเป็นข้าวสุกมีลักษณะนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม

ลักษณะเด่น

  1. เป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง
  2. มีคุณภาพเมล็ดในการหุงต้ม และรับประทาน คล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105
  3. ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 650 กก./ไร่ ในฤดูนาปี และ 591 กก./ไร่ ในฤดูนาปรัง
  4. ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว
  5. ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนดี

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยจักจั่นสีเขียว ซึ่งเป็นพาหะของโรคใบหงิก และโรคใบสีส้ม
ไม่ควรปลูกในพื้นที่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง และซ้ำที่เดิมเป็น เวลานาน ควรสลับด้วยพันธุ์อื่นซึ่งต้านทานต่อโรคและแมลงดี โดยเฉพาะ พันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อป้องกันการระบาดทำลายจากศัตรู ดังกล่าว

แหล่งแนะนำ

แนะนำให้ปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาค ตะวันออก

สถานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 ของสถาบันวิจัยข้าว

ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110 (02) 5771688-9
สถานีทดลองข้าวคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12100 (02) 5290713
สถานีทดลองข้าวบางเขน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 (02) 5790141-2
สถานีทดลองข้าวราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000 (032) 337407
สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000 (032) 511276