ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี
ประวัติ
ข้าวเจ้าหอมพันธุ์สุพรรณบุรี ได้มาจากการผสมพันธุ์แบบสามทางระหว่าง ข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ของคู่ผสม SPR84177-8-2-2-2-1 และ SPR85091-13-1-1-4 (แม่) กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (พ่อ) ที่สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2532

พ.ศ. 2533-2536 ปลูกและคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ถึงชั่วที่ 8 จนได้สายพันธุ์ SPR89111-17-2-2-2-2

พ.ศ. 2537-2540 ปลูกศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี

พ.ศ. 2539 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี บางเขน และคลองหลวง ร่วมกับการทำแปลงสาธิตในนาเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และอ่างทอง

วันที่ 27 ตุลาคม 2540 กรมวิชาการเกษตร พิจารณาให้เป็นพันธุ์แนะนำ โดยให้ชื่อว่า ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี

ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี นอกจากจะเป็นข้าวหอมที่มีลักษณะรูปร่างเมล็ดและคุณภาพในการหุงต้มและรับประทานคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้ว ยังมีลักษณะต้นเตี้ย ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง อีกทั้งยังค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว จึงเหมาะสำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวหอมให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุนับจากวันตกกล้าถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 120 วัน
ให้ผลผลิตเฉลี่ย 582 กก./ไร่ ในฤดูนาปรัง และ 673 กก./ไร่ ในฤดูนาปี (ปลูกแบบหว่านน้ำตมในนาเกษตร)
ต้นสูงประมาณ 126 ซม. ทรงกอตั้ง ฟางแข็ง ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง รวงยาวและคอรวงยาว
เมล็ดข้าวเปลือกยาวเรียว สีฟาง ยาว 10.8 กว้าง 2.4 และหนา 2.0 มม. เมล็ดข้าวกล้องยาว 7.7 กว้าง 2.1 และหนา 1.8 มม.
มีคุณภาพในการสีดี เมล็ดข้าวสารใสเป็นท้องไข่น้อย ทำข้าวได้ 100%ได้
เป็นข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำ เมื่อเป็นข้าวสุกมีลักษณะนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม

ลักษณะดีเด่น

มีลักษณะเมล็ดและคุณภาพในการหุงต้ม และรับประทานคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
เป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปี และนาปรัง
ค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว
ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนดี

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างไม่ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ไม่ควรปลูกในพื้นที่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง และซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน ควรสลับด้วยพันธุ์อื่นซึ่งต้านทานต่อโรคและแมลงดี โดยเฉพาะพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อป้องกันการระบาดทำลายจากศัตรูดังกล่าว

แหล่งแนะนำ

แนะนำให้ที่ปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

สถานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์หลักข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ของสถาบันวิจัยข้าว

- ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110 (02) 5771688-9
- สถานีทดลองข้าวคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 (02) 5290713
- สถานีทดลองข้าวบางเขน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 (02) 5790141-2
- สถานีทดลองข้าวราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000 (032) 337407
- สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000 (032) 511276