หมากเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าว มีลำต้นสูงชะลูด ขนาดของลำต้นและทรงพุ่มจะแตกต่างจากพืชชนิดอื่น ๆ จึงเหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นพืชแซม หรือปลูกแบบสวนหลังบ้าน ซึ่งในปัจจุบันนี้ สามารถส่งหมากออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศในรูปของหมากแห้ง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เช่น ใช้ในการฟอกหนัง ทำยารักษาโรค ทำสี และส่งออกในรูปหมากดิบเพื่อบริโภค ฉะนั้น หมากจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะจะนำมาปลูกเพื่อเสริมรายได้แก่เกษตรกร

สามารถแบ่งพันธุ์ตามลักษณะของผลออกเป็น 2 ประเภท คือ พันธุ์ผลกลมแห้น และผลกลมรี


การขยายพันธุ์หมากจะมี 2 ขั้นตอน คือการเพาะเมล็ดจากต้นพันธุ์ดีในแหลงเพาะให้งอกเสียก่อนแล้วจึงนำไปชำในแปลงหรือถุงพลาสติกให้เจริญเติบโตจนได้ขนาดพอเหมาะ ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน จึงนำไปปลูกได้
การปลูกหมากแซมพืชอุตสาหกรรม เช่น กาแฟ โกโก้ สามารถปลูกหมากในระหว่างแถวหรือ แทรกในระหว่างแถวก็ได้ (ดังแผนภาพ)

การปลูกหมากแซมในสวนไม้ผล สามารถปลูกแซมในระหว่างแถว หรือแทรกสับหว่างระหว่างแถว ส่วนในสวนไม้ผลแบบยกร่อง สามารถปลูกหมากริมคันร่องสวน โดยให้ต้นหมากอยู่ห่างจากต้นไม้ผลประมาณ 2-3 เมตร และห่างจากขอบร่องสวนประมาณ 0.5 เมตร แต่ถ้าเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มใหญ่ควรปลูกหมากเป็นแนวหรือบนคันโอบรอบพื้นที่สวน (ดังแผนภาพ)

หมากเมื่อปลูกแล้วต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาพอสมควร ถ้าปล่อยปละละเลยต้นหมากจะเจริญเติบโตช้าและผลผลิตต่ำ ฉะนั้นจึงควรมีการปฏิบัติดูแลดังนี้
การให้น้ำ หลังจากปลูกแล้ว ควรรดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน โดยรด 2 วันต่อครั้ง ต้นหมากจะเกิดรากใหม่และตั้งตัวได้ เมื่อต้นหมากโตแล้วควรดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหลังจากเก็บเกี่ยวผลหมากหมดแล้ว ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยอินทรีย์
การกำจัดวัชพืช ต้องหมั่นคอยกำจัดวัชพืชรอบ ๆ โคนต้นหมาก และควรพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้น้ำพร้อมกันไปเลย
ในการปลูกสะตอหรือหมากเป็นพืชแซมเพื่อเสริมรายได้ นอกจากจะมีการดูแลรักษาที่ดีแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ได้แก่ ทรงพุ่มของพืชที่ปลูกร่วมกัน เงินทุน ค่าแรงงาน ความสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาสวน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการจัดการภายหลัง