การสาวไหม หมายถึง กรรมวิธีที่ดึงเส้นไหมออกมาจากเปลือกรังไหม ซึ่งจะต้องมีขบวนการหรือขั้นตอนในการสาวไหม ดังแสดงในแผนภาพ ดังนี้
ขนาดของเส้นไหม การกำหนดขนาดของเส้นไหมนั้นจะกำหนดจากความยาวต่อน้ำหนัก ขนาดของเส้นไหมมีหน่วยเรียกว่า "ดีเนียร์" 1 ดีเนียร์ หมายถึง เส้นไหมที่มีความยาว 9,000 เมตร มีน้ำหนัก 1 กรัม ซึ่งขนาดของเส้นไหมจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ไหมพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ จะมีขนาดโดยเฉลี่ย 2.2 - 2.8 ดีเนียร์ พันธุ์ไทยหรือไทยลูกผสม จะมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5-2.1 ดีเนียร์ สำหรับความยาวของเส้นไหมพันธุ์ลูกผสมพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ จะมีความยาวเฉี่ยว 900-1,300 เมตร พันธุ์ไทยจะยาวโดยเฉลี่ย 300-350 เมตร พันธุ์ไทยลูกผสมจะยาวโดยเฉลี่ย 600-700 เมตร
อนึ่ง ในการสาวไหมเพื่อให้ได้เส้นไหมที่ดีมีคุณภาพจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้คือ
คุณภาพรังไหม รังไหมที่ดีจะทำให้การสาวไหมง่าย มีความเบี่ยงเบนของขนาดเส้นไหมน้อยและเส้นไหมที่สาวได้จะมีความสม่ำเสมอกัน
วิรีการสาวไหม จะรว มไปถึงการต้มรังไหม อัตราความเร็วในการสาวไหม ปริมาณรังไหมที่ใช้สาว โดยเฉพาะการสาวไหมพุ่งในระดับเกษตรกร หากจำนวนรังไหมมากหรือน้อยเกินไป จะทำให้การสาวไหมมีประสิทธิภาพต่ำ
การกรอเส้นไหม ในการสาวไหมที่ใช้เครื่องในโรงงานหรือการสาวไหมโดยใช้มอเตอร์ การกรอเส้นไหมที่ดีต้องไม่ให้เกิดการเกาะกัน จนทำให้เส้นไหมติดกันเป็นแผ่น
การสาวไหมในปัจจุบันจะมีการสาวกันอยู่ 2 ประเภท คือ การสาวไหมของโรงงานสาวไหมโดยการใช้เครื่องจักรสาว กับการสาวไหมในระดับเกษตรกรในหมู่บ้าน ซึ่งโดยวัตถุประสงค์หลักแล้วจะมีความแตกต่างกันคือการสาวไหมของโรงงานจะมุ่งเน้นในการผลิตเส้นไหมยืน รองลงมาคือ เน้นไหมพุ่ง สำหรับเกษตรกรจะมีการสาวไหมเพื่อใช้ประโยชน์ ในลักษณะของไหมพุ่งเกือบ 100% แต่ในเอกสารคำแนะนำเล่มนี้จะมุ่งเน้นในลักษณะของเส้นไหมที่ผลิตในระดับครัวเรือน โดยการถ่ายทอดเทคนิคและเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลให้เกษตรกร ได้มีการปรับปรุงพัฒนาการผลิตเส้นไหมที่ดีมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้ทอผ้าไหมไทย
การสาวไหมในระดับเกษตรกรหรือการสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงเป็นวิธีการสาวไหมที่เกษตรกรได้มีการปฏิบัติกันมาช้านาน โดยได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากชั่วอายุหนึ่งไปสู่อีกชั่วอายุหนึ่ง โดยเดิมทีจะสาวกันแบบพื้นเมืองหรือพื้นบ้าน ซึ่งพวงสาวไหมแบบพื้นบ้านนี้จะมีอัตราการสาวได้ช้ามาก คือ ประมาณ 200 -300 กรัมต่อวัน (8 ชั่วโมง ทำงานเท่ากับ 1 วัน) ในการเลี้ยงไหมของเกษตรกรนั้นกลุ่มผู้สาวไหมเองจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีการพัฒนาผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตรังไหม คือ มีการเพิ่มผลผลิตรังไหมต่อแผ่นเป็น 12-15 กิโลกรัมรังสด และพันธุ์ไหมไทยลูกผสม มีการเพิ่มผลผลิตรังไหมเป็นแผ่นละ 15-18 กิโลกรัมรังสด ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาวิธีการสาวไหมมีความสอดคล้องกับผลผลิตรังไหมของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเครื่องสาวไหมเพื่อใช้ในการสาวไหมในระดับหมู่บ้านของเกษตรกร ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. เครื่องสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงโดยใช้แรงคน
2. เครื่องสาวไหมพุ่งแบบมอเตอร์
เครื่องสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงโดยใช้แรงคน เป็นเครื่องสาวไหมแบบง่าย ๆ ใช้สำหรับการสาวไหมพันธุ์ไทยหรือไทยลูกผสม ความสามารถในการสาวไหมของเครื่องจะไม่น้อยกว่า 600 กรัม/วันทำงาน (8 ชั่วโมง)
เครื่องสาวไหมแบบปรับปรุงโดยใช้แรงคนลักษณะตัวโครงของเครื่องจะทำด้วยเหล็กสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ง่าย เป็นการสาวไหมโดยเส้นไหมจะเข้าไปในระวิงหรือที่เกษตรกรเรียกว่าเหล่ง มีรอบระวิงประมาณ 140 เซนติเมตร ตรงแกนกลางที่ดุมรับระวังจะมีแขนจับสำหรับหมุน ในขณะที่หมุนก็จะมีก้านส่ายเส้นไหมไปมา ในส่วนของระวิงสาวไหมซึ่งจะมีแขนอยู่ 6 แขนด้วยกัน โดย 2 แขนที่อยู่ด้านตรงข้ามกันจะสามารถปรับลดให้สั้นลงได้ เพื่อให้เส้นไหมสามรถปลดออกจากระวิงสาวไหมได้
1. การเตรียมรังไหม ก่อนที่จะทำการสาวไหม ให้คัดเลือกรังไหมที่จะทำการสาวก่อนโดยแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลม ขนาดสม่ำเสมอ
2. การต้มรังไหม ต้มน้ำให้เดือดหรือประมาณ 90 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำรังไหมที่เตรียมไว้ใส่ลงในหม้อต้มสาว ประมาณ 80-100 รัง และรังษาระดับความร้อนของน้ำประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส
3. การสาวไหม ทำการสาวไหมโดยการสาวแยกเปลือกรังชั้นนอกและชั้นใน
   3.1 การสาวไหมเปลือกนอกหรือการสาวไหมลืบ คือ วิธีการสาวไหมจากเปลือกรังชั้นนอก ซึ่งมีประมาณ 25-30% ของเปลือกรังทั้งหมด โดยทั่วไปจะนิยมสาวโดยใช้พวงสาวแบบพื้นบ้านหรืออาจจะสาวด้วยเครื่องสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงดังกล่าวก็ได้ ลักษณะเส้นไหมที่ได้จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหยาบ บางครั้งก็เรียกเส้นไหมชนิดนี้ว่าไหม 3
   3.2 การสาวไหมเปลือกชั้นใน หรือการสาวไหมน้อย คือ วิธีการสาวไหมจากเปลือกรังชั้นใน ซึ่งเส้นไหมที่สาวได้จะมีขนาดเล็ก เรียบบางครั้งเรียกว่าไหม 1 สามารถสาวด้วยเครื่องสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงได้เป็นอย่างดี
4. การทำไจไหม เมื่อทำการสาวไหมจนกระทั่งเส้นไหมเต็มระวิงสาวไหมหรือได้น้ำหนักเส้นไหมประมาณ 50-100 กรัม ก็ให้ปลดเส้นไหมออกจากระวิงสาวไหม แล้วให้ทำการกระตุก จะทำให้เส้นไหมมีรอยแถบ ส่งผลกระทบให้การย้อมสีทำได้ยากและอาจจะเกิดเป็นแถบ ๆ บนพื้นผ้าได้ นอกจากนี้เมื่อกระจุกไจไหมเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการแบ่งส่วนของไจไหมออกเป็นสี่ส่วน เพื่อให้สะดวกต่อการฟอกย้อมสี และไม่ทำให้เส้นไหมพันกันยุ่งในแต่ละไจไหมด้วย
5. การตากเส้นไหม เส้นไหมที่จะนำไปตากให้แห้งจะต้องเป็นเส้นไหมที่ได้จากการสาวไหมและไจไหม พร้อมทั้งมีการแบ่งส่วนเรียบร้อยแล้วโดยจะทำการตากผึ่งลมในที่ร่ม ไม่ควรนำไปตากแดดเพราะจะทำให้เส้นไหมเสียคุณภาพได้
1. นำพวงสาวไหมและหม้อต้มสาวไหมมาวางให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะกับผู้ที่ทำการสาวไหม เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. การดูแลรักษาหลังจากการสาวไหม ทุกครั้งที่สาวไหมเสร็จควรที่จะเช็ดเครื่องให้แห้งพร้อมทั้งมีการหยอดน้ำมันหล่อลื่นในบริเวณที่มีการสัมผัส คือแกนกลางหรือดุมรับระวิง จุดยึดของก้านส่ายไหมขึ้นระวิงกับตัวเครื่อง ตลอดจนแขนของระวิงสาวไหมคู่ที่ปรับลดได้ เพื่อรักษาประสิทธิภาพของเครื่อ
3. ชุดรอกพวงสาวจะต้องดูแล เช็ดและหล่อลื่นให้มีการหมุนที่ดี มีประสิทธิภาพ ไม่ควรจะให้เกิดอาการหมุนที่ฝึ
1. ทำให้เกษตรกรสามารถสาวไหมได้รวดเร็วและมากขึ้น คือ เพิ่มจากเดิม 200 กรัม เป็นไม่ต่ำกว่า 600 กรัมต่อวันทำงาน
2. เป็นเครื่องสาวไหมที่ประกอบด้วยอุปกรณ์เดี่ยวชิ้นเดียว การทำงานของเครื่องไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถที่จะทำได้เองโดยการศึกษาดูจากเครื่องต้นแบบ
3. น้ำหนักของเครื่องเบา สามารถที่จะยกเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวกและชิ้นส่วนของเครื่องสาวก็มีลักษณะการยึดติดกันคงที่
4. วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นตัวเครื่องหาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาค่อนข้างถูก
เครื่องสาวไหมพุ่งแบบมอเตอร์ เป็นเครื่องสาวไหมที่ย่อส่วนมาจากเครื่องสาวไหมแบบกึ่งอัตโนมัติหรือแบบมัลติเอน มี 2 หัวสาว โดยทำการสาวไหมเข้าอักสาวก่อนแล้วจึงนำไปทำการถ่ายเส้นไหมจากอักสาวไปสู่เหล่งเพื่อทำไจไหม โดยใช้เครื่องสาวดังกล่าวเป็นตัวกลไกในการควบคุมการทำงานทั้งสิ้น เครื่องสาวชนิดนี้เหมาะที่จะใช้กับไหมพันธุ์ไทยลูกผสมและพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ
1. การเตรียมรังไหม รังไหมที่จะทำการสาวนั้น อาจจะเป็นรังไหมพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศหรือพันธุ์ไทยลูกผสม ซึ่งรังไหมที่จะใช้สาวนั้นอาจจะเป็นรังไหมสดหรือรังไหมอบแห้งก็ได้ ก่อนที่จะนำรังไหมมาทำการสาวนั้น จะต้องมีการคัดแยกรังไหมที่มีคุณภาพดีและไม่ดีออกจากกันก่อน เพื่อทำให้เส้นไหมที่จะสาวได้มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นก็นำรังไหมที่เตรียมไว้ไปทำการต้มและสาวต่อไป การต้มรังไหมเพื่อทำการสาวไหม จะมีวิธีการต้มที่แตกต่างกันระหว่างรังไหมสดและรังไหมแห้ง คือ
   1.1 การต้มรังไหมสด การต้มรังไหมสดก่อนที่จะทำการสาวไหม จะต้องมีการต้มในอุณหภูมิ 3 ระดับ คือ n หม้อต้มที่ 1 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกสม และ 2 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 2 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 35 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 40 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 3 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 4 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม    1.2 การต้มรังไหมอบแห้ง การต้มรังไหมอบแห้งก่อนที่จะทำการสาวไหม ก็มีวิธีการต้มคล้ายคลึงกับการต้มรังไหมสด แต่จะแตกต่างกันที่ระยะเวลาของการต้ม ในระดับอุณหภูมิต่าง ๆ กันเท่านั้น
- หม้อต้มที่ 1 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 6 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 2 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 50 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 1 นาที 20 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม
- หม้อต้มที่ 3 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 12 นาที สำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม
ในกรณีการต้มรังไหมก่อนที่จะทำการสาวไหมโดยวิธีการดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการต้มรัง เพราะรังไหมแต่ละชนิดและสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน
2. การสาวไหม นำเอารังไหมที่ต้มเรียบร้อยแล้วมาใส่ลงในอ่างสาวโดยให้ความร้อนของน้ำในอ่างสาวไหมมีอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส แล้วทำการดึงเส้นไหมเพื่อหาเงื่อน วิธีการสาวไหมด้วยเครื่องสาวชนิดนี้จะสาวเข้าอักสาวไหม ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีเส้นรอบวง 68 เซนติเมตร โดยมี 2 อักสาวไหมต่อเครื่อง แต่ละหัวสาวจะต้องใส่รังไหมเพื่อทำการสาวไหมโดยเฉลี่ยประมาณ 80 รัง เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีขนาดประมาณ 150-200 ดีเนียร
การทำงานของเครื่องสาวไหม ในการขับเคลื่อนจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 0.5 แรงม้า โดยอักสาวไหมจะมีความเร็วประมาณ 200 เมตร/นาที ในการสาวไหมนั้น รังไหมที่จะทำการสาวควรจะมีการลอกปุยออกให้สะอาด และทำการสาวเอาเส้นใยไหมรอบนอกของรังไหมออกไปสาวที่บริเวณอ่างสาวไหมซึ่งจะมีอ่างที่ใส่รังไหมเพื่อสาวไหมกับอ่างพักรังไหมที่ต้มเรียบร้อยแล้ว และรอการสาวต่อไป
การเริ่มสาวไหมนั้น จำนวนรังไหมที่ใช้เริ่มต้นสาวอยู่ในระหว่าง 80-85 รัง และผู้ควบคุมเครื่องสาวจะต้องมีความชำนาญ ประสบการณ์และการสังเกตเป็นอย่างดี เพราะเมื่อสาวไปได้ระยะหนึ่งจำนวนรังไหมในอ่างสาวจะลดลงก็ให้ทำการเติมรังไหม โดยนำเอารังไหมจากอ่างพักเติมลงไปทดแทนรังที่หายไปจากการสาวไหม เพื่อให้เส้นไหมที่สาวได้มีขนาดที่สม่ำเสมอ
การควบคุมการทำงานของเครื่องสาวไหม เครื่องสาวไหมนี้จะประกอบไปด้วยสองหัวสาว ในระยะแรก ๆ หากผู้สาวยังไม่มีความชำนาญพออาจจะเริ่มโดยการสาวไหมเพียงหัวสาวเดียวก่อน เมื่อฝึกจนกระทั่งเกิดความชำนาญ มีทักษะ ก็สามารถที่จะเปิดสาวได้พร้อมกันทั้งสองหัวสาว ผู้สาวไหมจะต้องหมั่นตรวจเช็คขนาดของเส้นไหมอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากตัวเครื่องไม่มีตัวควบคุมขนาดของเส้นไหมในขณะที่ทำการสาว นอกจากกนี้เครื่องสาวไหมชนิดนี้จะมีดุมติดอยู่ที่เครื่องสาวเพื่อป้องกันไม่ให้เศษดักแด้และเส้นไหมติดไปกับเส้นไหมที่สาวได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพเส้นไหมโดยตรง

การกรอไหมเพื่อที่จะเตรียมเส้นไหมออกจำหน่ายนั้น เนื่องจากเส้นไหมที่สาวได้จะอยู่ในอักสาว ดังนั้นเมื่อทำการสาวเส้นไหมแล้วจะต้องมีการถ่ายเส้นไหมออกจากอักสาวไปใส่ระวิง (เหล่ง) เพื่อทำเป็นไจไหม โดยมีขนาดเส้นรอบวง 150 เซนติเมตร และแต่ละไจไหมควรจะมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กรัม เมื่อกรอเรียบร้อยแล้วก็ให้มัดหัวไหมทั้งสองข้าง แล้วทำการแบ่งเส้นไหมในแต่ละไจออกเป็น 4 ส่วน โดยการใช้เส้นด้ายร้อยเพื่อไม่ให้เส้นไหมในไจกระจาย ยุ่งพันกัน และสะดวกต่อผู้ใช้เส้นไหมเมื่อนำมาทำการฟอกย้อมสีไหม
การกรอไหมเพื่อถ่ายเส้นไหมเข้าเหล่งนั้น ควรที่จะรีบกรอไหมออกจากอัก เพราะถ้าหากว่าปล่อยให้เส้นไหมแห้งแล้ว จะทำให้เส้นไหมบีบรัดจนอาจจะทำให้อักแตก และทำให้เส้นไหมในอักนั้นมีลักษณะที่ไม่ดีได้ถ้าหากว่าทำการกรอไม่ทัน ควรที่จะนำอักสาวไหมที่มีเส้นไหมอยู่ไปแช่ลงในน้ำ เพื่อไม่ให้เส้นไหมแห้งและหดตัวในขณะอยู่ในอักสาว
เครื่องสาวไหมมอเตอร์แบบสองหัวสาวประกอบด้วยวัสดุที่เป็นโลหะควบคุมการทำงานด้วยมอเตอร์ขนาด 0.5 แรงม้า ดังนั้นเพื่อให้การทำงานของเครื่องสาวไหมมีปประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถใช้ได้ในระยะเวลานาน ผู้ใช้จึงควรที่จะปฏิบัติดังนี้คือ
1. ควรจะมีการใส่จารบีในตุ๊กตาลูกปืนทุกตัว
2. เมื่อทำการสาวไหมเสร็จเรียบร้อยและหยุดการใช้เครื่องแล้ว ควรจะทำความสะอาดและเช็ดเครื่องให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดสนิมที่ตัวเครื่องสาวไหม
3. ส่วนลูกรอกและเจททเบ้านั้นจะต้องเอาเศษเส้นไหมที่พันติดอยู่ออกให้หมด เพื่อให้การหมุนของส่วนดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัว และทำให้สาวไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ก่อนและหลังการใช้เครื่องสาวไหมควรที่จะมีการตรวจสภาพน้อตทุกตัวของเครื่องว่าอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เลยหรือไม่
5. อักสาวไหม จะต้องหล่อลื่นด้วยน้ำมันเพื่อป้องกันสนิมและทำให้การหมุนของอักสาวไหมเป็นไปได้อย่างคล่องตัวในขณะที่ทำการสาวไหม
อนึ่ง ขบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการสาวไหมดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการสาวไหมโดยใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในลักษณะกึ่งโรงงานสาวไหมแบบเบื้องต้น ซึ่งสามารถที่จะนำไปดัดแปลงและปรับใช้กับวิธีการสาวไหมในรูปแบบเดียวกันได้และปัจจัยที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อคุณภาพของเส้นไหมที่จะสาวได้จากเครื่องสาวไหมกึ่งอัตโนมัติหรือเครื่องสาวไหมที่ใช้มอเตอร์ คือ ทักษะและความชำนาญ
การสาวไหมในระดับโรงงานได้มีการมุ่งเน้นในการสาวไหมจากพันธุ์รังไหมสีขาวหรือพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งเส้นไหมยืนและเส้นไหมพุ่ง โดยแผนการผลิตจะต้องมีการพิจารณาสถานการณ์การตลาดเป็นหลัก เพื่อให้การผลิตเส้นไหมของโรงงานเกิดความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งในการผลิตเส้นไหมดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม โดยเกษตรกรจะเข้าไปในส่วนของการผลิตรังไหมเพื่อจำหหน่ายให้แก่โรงงานสาวไหม สำหรับโรงงานก็จะนำรังไหมที่เกษตรกรนำเข้าไปจำหน่ายนั้นทำการสาวไหมเพื่อให้ได้เส้นไหมตามความต้องการของตลาด ดังนั้น การสาวไหมในโรงงานสาวไหมจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพหรือไม่จะต้องมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ 2 ปัจจัย คือ
1. คุณภาพของวัตถุดิบ
2. เทคนิคของขบวนการสาวไหมในโรงงานสาวไหม
คุณภาพของวัตถุดิบ หมายถึง รังไหมที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมจะต้องทำการคัดเลือกเพื่อที่จะแยกรังดีและ รังเสียออกจากกันก่อนจะนำรังไหมไปจำหน่าย ซึ่งรังเสียที่เกษตรกรจะพบนั้นมีหลายชนิด เช่น รังแฝด รังเจาะ รังเปื้อนภายใน รังเปื้อนภายนอก รังบาง รังหลวม รังหัวท้ายบาง รังผิดรูปร่าง รังติดจ่อ รังขึ้นรา และรังบุบ เป็นต้น ซึ่งหากเกษตรกรทำการคัดรังไหมได้ดี ก็จะทำให้จำหน่ายได้ในราคาดีด้วย และยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่จะได้รับจากการจำหน่ายรังไหมด้วยเพราะราคารังไหมต่อกิโลกรัมจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังไหม
ขั้นตอนต่าง ๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบการโรงงานสาวไหม ซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม วัตถุดิบที่ใช้คือรังไหมที่เกษตรกรนำมาจำหน่าย โดยจะมีการรับซื้อรังไหมตามมาตรฐานคุณภาพในระดับต่าง ๆ
การสาวไหมในระดับโรงงานเพื่อที่จะผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพนั้นจะต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น การอบระงไหมแห้ง การต้มรังไหมเพื่อการสาวไหม เทคนิคการสาวไหม ประสิทธิภาพของเครื่องสาวไหม คุณภาพรังไหม น้ำที่นำมาต้มรังไหมและสาวไหม เป็นต้น ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นขบวนการที่มีความละเอียดซับซ้อนพอสมควร ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงและมีความสำคัญต่อการพัฒนาขบวนการสาวไหมมาก คือ ประสบการณ์และความชำนาญในการสาวไหม แรงงานที่ใช้ ควรที่จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือและทักษะในด้านการสาวไหมด้วยเครื่องสาวไหมแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้การผลิตเส้นไหมจากภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานสาวไหมนั้น จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบระดับมาตรฐานของเส้นไหมด้วย เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อการค้าในระดับสากล มุ่งหวังทดแทนการนำเข้าในบางส่วน และในการกำหนดมาตรฐานเส้นไหมของไทย ควรที่จะมีการใช้แบบระบบมาตรฐานสากล คือ การใช้เส้นไหมดิบทำการทดสอบคุณภาพว่า จะอยู่ในระดับเกรดใด เช่น เอ, 2 เอ หรือ 3 เอ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีจากเทคนิคของการสาวไหมที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เราจะพบว่าการสาวไหมในระดับเกษตรกรโดยการใช้เครื่องสาวไหมหรือพวงสาวไหมแบบปรับปรุงได้มีส่วนเข้าไปช่วยทุ่นแรงงานและเพิ่มอัตราความเร็ว ตลอดจนประสิทธิภาพในการสาวไหมของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี การรักษาระดับคุณภาพและคุณลักษณะของเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน จะทำให้ผ้าไหมไทย หรือที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า "ไทยซิลค์" (Thai silk) มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของชาวโลกตลอดไป