ศัตรูดาวเรือง

1. เพลี้ยไฟ เป็นเพลี้ยไฟขนาดเล็ก มีสีครีม และปีกคล้ายขนสีดำตัวอ่อนมีสีขาวนวล จะระบาดมากในช่วงฤดูร้อน ทำลายยอดอ่อนและดอกอ่อนโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ส่วนที่ถูกดูดหงิกงอและแห้งเหี่ยวไปในที่สุด

ป้องกันและกำจัดโดย

1.1 ฝังฟูราดาน 3 จี ทันทีหลังจากเด็ดยอด และต่อ ๆ ไปทุก 15 วัน
1.2 พ่นด้วยสารฆ่าแมลงในตอนเช้า 09.00-10.00 น. อาจใช้พอสซ์ 20 เปอร์เซนต์ อีซี หรือแลนเนท หรือคาราเต้ หรือธีโอดาน ที่สำคัญควรพ่นให้ถูกต้อง

2. หนอนผีเสื้อ เป็นหนอน 3 ชนิด คือ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนกระทู้ผัก เกิดจากแม่ผีเสื้อมาวางไข่ไว้บริเวณใบอ่อนและดอกตูม เมื่อหนอนผีเสื้อฟักออกมาเป็นตัว จะกัดกินที่บริเวณดอกตูม จะระบาดมากในฤดูฝนที่มีฝนตกชุก

ป้องกัน และกำจัดโดย

2.1 หว่านลูกเหม็นที่มีขายในท้องตลาดลงไปบนดิน บริเวณโคนต้นในอัตราต้นละ 1-2 เม็ด กลิ่นของลูกเหม็นในเวลากลางวันขณะถูกแสงแดง จะฉุนมาก ป้องกันไม่ให้ผีเสื้อมาวางไข่
2.2 เมื่อมีหนอนระบาด ควรจับหนอนฆ่าถ้าเห็นตัว
2.3 พ่นด้วยสารเมทโธมิลสลับกับไพรีพรอยด์สังเคราะห์
2.4 พ่นด้วยสารละลายเนมาโทดิค 22 ในเวลาเช้าก่อน 10 โมง หรือหลังบ่าย 4 โมง สารเนมาโทดิคได้จากไส้เดือนฝอยตระกูลคาโปแคปซีเป็นไส้เดือนฝอยศัตรูหนอน เป็นการฆ่าหนอนโดยชีววิะี พ่นทุก ๆ 15 วัน หนอนจะถูกทำลายและตายภายใน 24-48 ชั่วโมง

สารเนมาโทดิค 22 เป็นสารใหม่แต่ใช้ได้ผลดีมาก โดยไม่เป็นพิษกับพืช และคน ที่สำคัญคือ เกษตรกรสามารถเตรียมสารนี้ไว้ใช้เองได้ ถ้ารู้วิธีโดยซื้อไส้เดือนฝอยมาใช้เพียงครั้งเดียว โดยติดต่อขอคำแนะนำจากองกีฏวิทยา กรมวิชาการเกษตร ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ 10900 โทร. (02) 5791061, 5795583 หรือติดต่อซื้อจากบริษัทผู้ผลิต

3. โรคเหี่ยว เกิดกับดาวเรืองในขณะเจริญเติบโตเต็มที่และดอกเริ่มจะบาน โดยใบยอดจะแสดงอาการเหี่ยวในตอนสาย ๆ และเหี่ยวมากในช่วงกลางวันที่มีแสงแดดจัด อาการคล้ายขาดน้ำ แต่ในตอนกลางคืนหรือเช้าตรู่ ต้นจะกลับฟื้นดังเดิม เป็นอยู่เช่นนี้ 3-4 วัน หลังจากนั้นจะเหี่ยวทั้งต้น และตายไปในที่สุด จากการตรวจสอบพบว่าเกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า (Phytophthora sp.) ถ้าเกิดกับต้นดาวเรืองแล้ว วิธีป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดคือ ถอนแล้วเผาให้สิ้นซาก ป้องกันโดยพ่นสารไดโฟลาแทนหรือไดเทนเอ็ม 45 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

4. โรคใบหงิก จะเกิดกับดาวเรืองในระยะกำลังเจริญเติบโตเต็มที่และเริ่มออกดอก เช่นเดียวกันกับโรคเหี่ยว โดยเกิดกับใบยอดก่อน ใบจะแสดงอาการหงิกม้วน และกรอบนิด ๆ แผ่นใบจะไม่แผ่กางเต็มที่เหมือนใบปกติ ทำให้ดอกเล็กและบางครั้งจะไม่บาน จากการตรวจสอบพบว่าเกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดโดยการขุดต้นที่เป็นโรคนี้เผาให้สิ้นซากทันทีที่พบเห็น