1. เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกสามารถวางแผนการผลิตผักได้ตลอดปี โดยเลือกผลิตผักที่มีราคาและผักที่ปลูกในสภาพนอกโรงเรือนที่มีปัญหาแมลงรบกวนมาก จึงมีการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเป็นประจำ
2. สามารถกำหนดการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและจัดทำโครงการในลักษณะครบวงจร
3. ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผักที่ปลูกไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
4. มีส่วนช่วยอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงแหล่งต้นน้ำลำธารจะได้ปลอดภัยจากปัญหาพิษตกค้างของสารเคมี


จุดดำเนินการทั้งหมดมี 25 โรงเรือน โดยจัดทำในศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวน ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง และสำนักงานเกษตรจังหวัด ดังนี้
1. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวน 10 ศูนย์ 10 โรงเรือน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ยโสธร นครราชสีมา เลย สมุทรสาคร ระยอง สุราษฏร์ธานี กระบี่
2. ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง 4 จังหวัด 5 โรงเรือน ได้แก่ เชียงราย ลำพูน เลย กาญจนบุรี
3. สำนักงานเกษตรจังหวัด 2 จังหวัด 10 โรงเรือน ได้แก่ อ่างทอง นครนายก


1. การสร้างโรงเรือน
- โรงเรือนเป็นโครงเหล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง x ยาว x สูง = 6 x 30 x 2.5 เมตร (ภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 ลักษณะโครงสร้างของโรงเรือนปลูกผักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

รายละเอียดและวิธีการสร้างโรงเรือนปลูกผัก
1. เสาโรงเรือนปักทุกระยะ 1 เมตร ไปตามความยาวของโรงเรือนเป็นระยะ 30 เมตร รวมจำนวน 31 ต้น
- ใช้เหล็กกลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเสา 3/4 นิ้ว โดยวิธีดัดเหล็กเส้นให้รูปร่างโค้งคล้ายตัวยูคว่ำ โดยเฉพาะเหล็กกลมดำ 1 เส้น ยาว 6 เมตร ให้วัดตามความยาวของเหล็ก 2 เมตร ดัดทำมุม 64 องศา (ภาพที่ 2) ซึ่งปลายเหล็กด้านหนึ่งจะถูกฝังในดินลึก เพื่อยึดโครงโรงเรือนให้แข็งแรงและเหลือส่วนที่พ้นดินขึ้นมามีความสูง 1.5 เมตร และทำการดัดมุมเหล็กกลมดำความยาวที่เหลืออีก 4 เมตร เป็นมุม 142 องศา
- ใช้เหล็กกลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเสา 3/4 นิ้ว ที่มีความยาว 2.7 เมตร โดยดัดเหล็กที่มีความยาว 2 เมตร ทำมุม 64 องศา โดยปลายเหล็กด้านหนึ่งจะถูกฝังดินลึก 0.5 เมตร และปลายเหล็กท่อนนี้มีความยาว 0.7 เมตร ถูกดัดเป็นมุม 142 องศา นำมาเชื่อมต่อกันกับเหล็กกลมท่อนแรก จะใช้การเจาะรูด้วยน็อต หรือใช้ต๊าบเกลียวและใช้ข้อต่อช่วยยึดก็ได้

สรุป ใช้เหล็กกลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว ความยาวท่อนละ 6 เมตร รวม 47 ท่อนต่อ 1 โรงเรือน


ภาพที่ 2 ภาพตัดขวางด้านหน้าของโรงเรือน

2. เสาโรงเรือนใช้ประกอบโครงด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือน มีเสาด้านละ 4 ต้น (ภาพที่ 3) ใช้เสากลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเสา 1 นิ้ว ความสูงของเสาคู่กลางยาว 3.0 เมตร และความสูงของเสาคู่ถัดไปมีความยาว 2.8 เมตร โดยเสาทุกต้นฝังดินลึกลงไป 0.5 เมตรทุกต้น

สรุป ใช้เหล็กกลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ความยาวท่อนละ 6 เมตร รวม 4 ท่อนต่อ 1 โรงเรือน


ภาพที่ 3 การประกอบเสาค้ำโครงสร้างโรงเรือนที่บริเวณด้านหน้าและด้านหลังเพื่อทำเป็นประตู ทางเข้าออกโรงเรือน

3. เหล็กที่ใช้ประกอบโครงด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือน โดยคาดขวางด้านละ 2 ต้น ใช้เหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ในแนวเป็นคานล่างและคานบนโดยท่อนล่าง (ภาพที่ 4) ใช้ความยาวท่อนละ 6 เมตร ส่วนความยาวท่อนบนใช้เหล็กขนาดความยาว 6 เมตร มาตัดต่อประกอบกับโครงของโรงเรือน โดยต้องคำนวณความยาวของเหล็กท่อนบนให้เหมาะสมด้วย
นอกจากนี้ที่บริเวณตำแหน่งหมายเลข 1-8 ไปตามแนวความยาวของโรงเรือนจะมีเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เชื่อมต่อระหว่างเสาโค้งรูปตัวยูคว่ำตั้งแต่ด้านหน้าโรงเรือนไปจนถึงเสาคู่ท้ายสุดของโรงเรือน (ภาพที่ 5)

สรุป ใช้เหล็กกลมดำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ความยาวท่อนละ 6 เมตร รวม 40 ท่อนต่อ 1 โรงเรือน


ภาพที่ 4 ภาพประกอบคานบนและคานล่างที่บริเวณเฉพาะเสาโค้งคู่หน้าและคู่หลังของโรงเรือน ส่วนตำแหน่งหมายเลข 1-8 แสดงจุดเชื่อมต่อคานไปตามความยาวของโรงเรือน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างโรงเรือน


ภาพที่ 5 ลักษณะโครงสร้างของโรงเรือนปลูกผักมาตรฐาน

2. การประกอบผ้าพลาสติกทำหลังคาโรงเรือนและคลุมด้านข้างโรงเรือนด้วยมุ้งไนล่อน

หลังคาของโรงเรือนเป็นรูปตัวยู ส่วนโค้งของหลังคาคลุมด้วยผ้าพลาสติกเคลือบสารยูวี (UV stabilizer) ขนาดความหนา 200 ไมครอน (ภาพที่ 6) ซึ่งสารยูวี (UV stabilizer) นี้ มีคุณสมบัติช่วยลดความเข้มของแสงลง และมีอายุการใช้งานทนนานกว่าผ้าพลาสติกทั่วไป การคลุมผ้าพลาสติกในฤดูฝนมักจะเกิดมีน้ำขังเป็นท้องช้าง ตรงจุดสูงสุดของตัวโครงหลังคา การแก้ไขใช้เส้นลวดขึงไปตามความยาวของโรงเรือนก่อนคลุมผ้าพลาสติก เพื่อเสริมไม่ให้ผ้าพลาสติกตกห้อยลงมาเวลาฝนตก

ด้านข้างของโรงเรือนคลุมด้วยมุ้งไนล่อนสีขาวตาถี่มีจำนวนเส้นทอ 32 เส้น/ความยาว 1 นิ้ว (mesh) หน้ากว้าง 2.50 เมตร ความยาว 50 เมตร/1 ม้วน มุ้งไนล่อนชนิดนี้ ป้องกันการเข้ารบกวนจากเพลี้ยไฟและหมัดกระโดดได้ การคลุมด้วยมุ้งไนล่อนควรคลุมไปตามความยาวของโรงเรือน ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 72 เมตร ใช้มุ้งจำนวน 2 ม้วน จุดต่อกันระหว่างม้วนที่ 1 กับม้วนที่ 2 ดึงผ้ามุ้งให้เหลื่อมทับซ้อนกันแล้วใช้กระกับพลาสติกยึดจับเสาไว้ ด้านข้างของโรงเรือนใช้ผ้ามุ้งที่เหลือมาพาดคลุม 2 ด้าน คือ หัว-ท้าย ทั้งนี้เพราะผ้ามุ้งจะระบายอากาศภายในโรงเรือนได้ดี การใช้ประกับพลาสติกยึดจับมุ้งไนล่อนให้ตึงเป็นช่วง ๆ จำนวนเสาละ 3 อัน ประตูทางเข้าของโรงเรือนใช้ผ้ามุ้งไนล่อนคลุมซ้อนเกยกันอยู่ 2 ชั้น เหมือนประตูเข้ามุ้งนอน


ภาพที่ 6 การคลุมหลังคาโรงเรือนด้วยผ้าพลาสติกเคลือบสารยูวี
ส่วนบริเวณด้านข้างทั้งสี่ด้านของโรงเรือนคลุมด้วยมุ้งไนล่อนสีขาวขนาด 32 ตาถี่

3. ทิศทางของโรงเรือน

- ควรวางแนวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้

4. การเตรียมแปลงปลูกในโรงเรือน

- ปรับพื้นที่สม่ำเสมอเป็นรูปกระทงนา โดยใช้รถไถขนาดเล็ก (ภาพที่ 7) ปรับดินสูง 0.2 เมตร เฉพาะบริเวณขอบแปลงทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งแนวทางเดินตรงกลางแปลง โดยทางเดินนี้ยาวไปตลอดตามความยาวของโรงเรือน ซึ่งแนวทางเดินและขอบแปลงทั้ง 4 ด้าน มีความกว้าง 0.5 เมตร


ภาพที่ 7 การใช้รถไถขนาดเล็กเพื่อการเตรียมดินภายในโรงเรือนปลูกผัก

5. การทำความสะอาดดินในโรงเรือนปลูกผัก

หลังไถเตรียมดินเสร็จให้อบดินด้วยสารเคมีทำความสะอาดดินดาโซเมท (dazomet) 98% G. เพื่อกำจัดโรคแมลงที่อาศัยในดิน เช่น ไส้เดือนฝอย เชื้อรา แมลง และวัชพืชในดิน

วิธีการใช้สารเคมีทำความสะอาดดิน
- ย่อยดินให้ละเอียด เก็บเศษวัชพืชที่ตกค้างในแปลงให้หมด รดน้ำให้ดินมีความชื้นก่อนหว่านดาโซเมทลงบนดินที่เตรียมไว้ ถ้าต้องการกำจัดวัชพืช รดน้ำให้ชุ่มปล่อยทิ้งไว้ 5-14 วัน เพื่อให้เมล็ดวัชพืชงอกก่อนหว่านหลังจากเก็บเศษวัชพืชแล้วจึงหว่านดาโซเมท

- การหว่าน ดาโซเมท โดยอาศัยการเจาะฝากระป๋องสารดาโซเมทให้เป็นรูคล้ายกระป๋องแป้งฝุ่น แล้วโรยลงบนดินตามอัตราที่กำหนดข้างฉลาก (ภาพที่ 8) ใช้จอบหรือรถไถขนาดเล็ก พลิกหน้าดินที่โรยดาโซเมทนั้นลงด้านล่างทันที โดยให้ฟันกลบดินลึก 20-25 เซนติเมตร ใช้จอบหรือลูกกลิ้งทุบหน้าดินให้แน่น แล้วรดน้ำอีกครั้ง อบดินทิ้งไว้ 5-7 วัน นับจากวันแรกที่หว่านดาโซเมท ระยะนี้ถ้าอากาศร้อนต้องระวังอย่าปล่อยให้ผิวดินแตก ถ้าผิวหน้าดินแห้ง ให้รดน้ำอีกในวันที่ 3 หรือที่ 4 หลังจากที่ได้อบดินแล้วต่อจากนั้นอีก 5-7 วัน ใช้จอบฟันเปิดดินให้ถึงชั้นดินที่มีดาโซเมทอยู่เพื่อให้แก๊ซพิษระเหยออกไปให้หมดแล้วปล่อยทิ้งไว้ตามตารางดังนี้

อุณหภูมิของดินที่ความลึก 10 เซนติเมตร ระยะเวลาตั้งแต่อบดินถึงปลูกพืชได้ (วัน)
20 องศาเซลเซียส 10-14
15-20 องศาเซลเซียส 16-18
10-15 องศาเซลเซียส 25

ดาโซเมทเป็นวัตถุที่มีพิษก่อนใช้ควรศึกษารายละเอียด และปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง


ภาพที่ 8 การโรยสารทำความสะอาดดินลงในแปลงขณะเตรียมดินก่อนเริ่มปลูกพืชนาน 15 วัน

6. การปรับสภาพและบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน

- ใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยทั่วไปเป็นชนิดผงละเอียดหรือชนิดเม็ด สำหรับการบำรุงและปรับสภาพดินในโรงเรือนปลูกผักของต่างประเทศใช้ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด (ภาพที่ 9) ปัจจุบันในประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดเป็นการค้ากันแล้ว คุณสมบัติของปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดนี้ จะไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไป และผ่านกระบวนการกำจัดสิ่งเจือปน เช่น เศษวัชพืชออกหมด
- ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใช้เพื่อเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของผักที่ปลูกในโรงเรือนให้เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน นอกจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์แล้วควรใช้ปูนขาวเพื่อปรับสภาพ pH ของดิน ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่


ภาพที่ 9 ปุ๋ยขี้ไก่ชนิดอัดเม็ด

7. การให้น้ำในแปลง

โดยติดตั้งระบบให้น้ำที่มีวาวล์เปิด-ปิดน้ำอยู่ติดด้านหัวแปลงแล้วต่อสายยางเข้าไปในโรงเรือนปล่อยให้น้ำไหลอาบน้ำเข้าไปในแปลง (ภาพที่ 10-11) แทนการลากสายยางเดินรดน้ำไปตามต้นผักทีละต้น
การให้น้ำ 2 ครั้ง/วัน เช้า-เย็น หรือให้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาความชื้นของดินในโรงเรือน ถ้าชื้นมากควรเว้นระยะการให้น้ำออกไป วิธีการให้น้ำแบบนี้ช่วยป้องกันเชื้อราเข้ารบกวนบนใบผัก เพราะใบผักจะไม่เปียกน้ำ ขณะที่บริเวณรากของผักจะชุ่มชื้นแทน รวมทั้งรูปแบบการให้น้ำแบบนี้จะให้น้ำแบบสลับร่องในแปลงปลูก เพื่อคนงานจะได้เข้าไปทำงานได้โดยไม่เหยียบย่ำแปลงขณะที่แปลงแฉะ ช่วยป้องกันไม่ให้โครงสร้างของดินเสียหาย


ภาพที่ 10 การติดตั้งระบบให้น้ำสำหรับปลูกผักในโรงเรือน


ภาพที่ 11 วิธีการให้น้ำสำหรับปลูกผักในโรงเรือน โดยปล่อยปลายสายยางเข้าไปในโรงเรือน ให้น้ำไหลอาบเข้าแปลงผัก

8. ชนิดผักในโรงเรือนที่แนะนำให้ปลูก

ผักที่จะใช้ทดสอบในโรงเรือนนั้น พิจารณาจาก

8.1 ผักที่มีอัตราการใช้สารเคมีมากและอ่อนแอต่อโรค-แมลง
8.2 ผักที่มีราคา
ผักที่คัดเลือกปลูกในโรงเรือน ได้แก่
- ผักกินผล เช่น แคนตาลูป พันธุ์ลูกผสม พริกสดผลยาว
- ผักกินใบ เช่น ผักนวลจันทร์ ฮองเฮา คะน้าสีทอง (ภาพที่ 12)


ภาพที่ 12 ผักกินใบเจริญเติบโตได้ดีในโรงเรือนที่ปลูกผัก

9. แนวทางการผลิตผัก

ให้มีการผลิตตามแผนการผลิตที่วางไว้ โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการและช่วยในเรื่องรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรจะช่วยกำหนดชนิดผักที่จะปลูกในแต่ละ ฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ต่อเนื่องตลอดปี

10. การดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวตลอดจนการขนส่ง

ปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลรักษาผักแต่ละชนิด และเก็บเกี่ยวผลิตผลในระยะที่เหมาะสม (ภาพที่ 13) รวมทั้งทำการขนส่งทำด้วยความปราณีต ทำให้ผลิตผลมีคุณภาพดีและเกิดการสูญเสียน้อยลง เช่น การขนส่งโดยอาศัยรถห้องเย็น (ภาพที่ 14)


ภาพที่ 13 ภาพเกษตรกรผู้ปลูกควรเก็บเกี่ยวผักในระยะที่เหมาะสม


ภาพที่ 14 การขนส่งผักสดควรใช้รถห้องเย็นปรับอุณหภูมิเพื่อช่วยถนอมคุณภาพของผลผลิต

11. ประสานงานการขายให้ครบวงจร

ในปีแรกของโครงการ ผลผลิตในโรงเรือนปลูกผักที่ดำเนินการในศูนย์ฯ ต่าง ๆ จะเป็นการเผยแพร่และขยายผลให้หน่วยงานราชการเอกชน ผู้สนใจ ได้ศึกษาหาความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่ใกล้เคียงของศูนย์แต่ละแห่ง ส่วนที่จัดทำในแปลงของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต โดยได้เชิญบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การรับซื้อผลผลิต โดยมีการประกันราคาเพื่อความมั่นใจของเกษตรกรว่าผลิตแล้วมีตลาดรับซื้อในส่วนของผู้ปลูกเอง

12. ต้นทุนการผลิต

โครงการปลูกผักในโรงเรือนเป็นการวัดผลในระยะยาวถึงแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าการปลูกผักโดยทั่วไป ซึ่งต้นทุนในปีแรกนั้นเกษตรกรจะลงทุนหนักในด้านการสร้างโรงเรือนประมาณ 30,000-40,000 บาท/โรงเรือน ก็ตาม แต่ผลที่ได้รับจะคุ้มค่า โดยเฉพาะที่เคยจัดทำในประเทศไต้หวัน สามารถคืนทุนได้ในเวลา 3 ปี โดยการปลูกผักในโรงเรือนแบบนี้