เมื่อหญ้าแฝกมีอายุน้อยจะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งต่ำ และเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นผลผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย แต่คุณค่าทางโภชนะลดต่ำลง โดยที่เปอร์เซนต์วัตถุแห้ง (Dry matter) จะเพิ่มมากขึ้นตามช่วงอายุการตัดที่มากขึ้น ในขณะที่ปริมาณโปรตีน การย่อยได้ของวัตถุแห้ง (In Vitro Dry Matter Digestibilities-IVDMD) และแร่ธาตุต่าง ๆ กลับมีค่าลดต่ำลง ส่วนเยื่อใยต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เห็นอย่างชัดเจน ตามช่วงอายุการตัดที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ปริมาณเยื่อใยก็มีค่าสูงมาก (ตารางที่ 3) ที่เป็นเช่นนี้เพราะหญ้าแฝกเป็นหญ้าที่มีใบหนาและค่อนข้างแข็งกว่าหญ้าชนิดอื่นที่พบเห็นได้ทั่ว ๆ ไป มีเพียงเฉพาะใบอ่อนเท่านั้นที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบหญ้าแฝกกับหญ้าอาหารสัตว์ชนิดอื่นแล้วหญ้าแฝกจัดว่าเป็นหญ้าที่มีคุณภาพต่ำในการใช้หญ้าแฝกเลี้ยงสัตว์ ควรใช้หญ้าที่มีอายุการตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์ เพราะการตัดหญ้าที่มีอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ จะได้หญ้าที่มีคุณภาพดี แต่ได้ผลผลิตต่ำ ส่วนการตัดหญ้าที่มีอายุเกิน 4 สัปดาห์ จะได้ผลผลิตสูง แต่คุณภาพของหญ้าจะต่ำ
หญ้าแฝกที่ตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์ จะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะ ดังนี้ (ตารางที่ 4)
1. ผลผลิตน้ำหนักแห้งและวัตถุแห้ง (Dry matter) หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนให้ผลผลิตน้ำหนักใกล้เคียงกันโดยหญ้าแฝกดอนที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ ให้ผลผลิต 1,352 กก./ไร่ ส่วนหญ้าแฝกหอมที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ สายพันธุ์ศรีลังกา ให้ผลผลิต 1,020 กก./ไร่ สำหรับปริมาณวัตถุแห้ง (Dry matter) หญ้าแฝกหอมมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอนโดยหญ้าแฝกหอมมีปริมาณวัตถุแห้งเฉลี่ยเพียง 33% สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีปริมาณวัตถุแห้งต่ำสุด คือ 31% แต่หญ้าแฝกดอนมีปริมาณวัตถุแห้งเฉลี่ย 40% โดยสายพันธุ์ราชบุรีมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำสุด 39
เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตน้ำหนักแห้ง และปริมาณวัตถุแห้งของหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน ในช่วงฤดูฝนกับฤดูแล้ง พบว่าหญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิด ให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูแล้ง แต่เปอร์เซนต์วัตถุแห้งในช่วงฤดูฝนต่ำกว่าฤดูแล้ง (ตารางที่ 5) ในช่วงฤดูฝน หญ้าแฝกหอมให้ผลผลิตและเปอร์เซนต์วัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอน แต่ก็จัดได้ว่าหญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิดมีความอ่อนนุ่มน่ากิน เพราะมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำกว่า 40% ส่วนในช่วงฤดูแล้งหญ้าแฝกหอมจะให้ผลผลิตสูงกว่าหญ้าแฝกดอน แต่มีเปอร์เซนต์วัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอน กล่าวคือ หญ้าแฝกหอมมีวัตถุแห้ง 46% แต่หญ้าแฝกดอนมีวัตถุแห้ง 51%

ตารางที่ 3 ค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะของหญ้าแฝกที่ตัดเมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ (on dey basis)

อายุการตัด (สัปดาห์)
  2 4 6 8
ผลผลิตน้ำหนักแห้ง (กก./ไร่) 1,710 2,358 2,980 ไม่มีข้อมูล
วัตถุแห้ง (%) 31.5 37.2 41.2 42.3
โปรตีน (%) 8.9 7.6 5.9 5.5
NDS (%) 20.5 19.5 21.8 19.9
เซลลูโลส (%) 37.8 38.3 37.1 38.6
เฮมิเซลลูโลส (%) 34.1 34.3 34.0 33.1
ลิกานิน (%) 4.7 5.4 6.5 6.6
การย่อยได้ของวัตถุแห้ง (%) 41.2 38.3 37.6 35.2
แคลเซี่ยม (%) 0.2 0.2 0.2 0.2
ฟอสฟอรัส (%) 0.2 0.2 0.1 0.1
แมกนีเซี่ยม (%) 0.2 0.1 0.1 0.1
โปแตสเซี่ยม (%) 1.5 1.0 0.9 0.7
ไนเตรท (ppm) 32.0 4.4 2.3 2.4
ที่มา : วารุณี และคณะ, 2537

ตารางที่ 4 ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะของหญ้าแฝก 10 สายพันธุ์ ที่มีอายุการตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์


  % On dry basis
ผลผลิต
กก./ไร
วัตถุแห้ง
%
โปรตีน
%
NDS
%
Cellu lose
%
Hemicel lulose
%
Lig- nin
%
IVDMD
%
Ca
%
P
%
Mg
%
K
%
ไนเตท
ppm
หญ้าแฝกหอม
สายพันธุ์สุราษฏร์ธานี

884

33.7

6.9

19.4

39.0

34.0

6.2

37.7

0.2

0.1

0.1

0.9

3.1
สายพันธุ์สงขลา 3 929 32.1 6.8 18.1 39.4 35.8 5.1 39.0 0.1 0.1 0.1 1.1 2.0
สายพันธุ์ศรีลังกา 1020 34.7 6.9 18.1 39.3 36.3 5.3 39.0 0.1 0.1 0.1 1.1 1.5
สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 967 31.0 8.2 21.0 38.4 32.2 5.4 42.6 0.3 0.2 0.3 1.1 11.8
ค่าเฉลี่ย 950 32.9 7.2 19.1 39.0 34.6 5.5 39.6 0.2 0.1 0.1 1.1 4.6
หญ้าแฝกดอน
สายพันธุ์เลย
788 39.6 7.7 18.0 37.5 37.5 5.2 33.1 0.1 0.1 0.1 1.0 2.3
สายพันธุ์ร้อยเอ็ด 566 41.9 7.9 22.8 36.0 34.4 5.2 39.4 0.1 0.1 0.1 1.0 38
สายพันธุ์ราชบุรี 1216 38.8 8.2 20.5 36.7 36.2 4.6 39.1 0.2 0.1 0.1 1.1 1.7
สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ 1352 38.4 7.6 18.5 38.0 37.1 4.8 38.3 0.2 0.1 0.1 0.9 2.1
สายพันธุ์นครสวรรค์ 676 40.3 7.0 7.0 39.8 32.9 5.9 37.2 0.1 0.1 0.1 1.1 4.7
สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 1032 41.1 8.3 20.2 39.0 32.6 5.9 37.9 0.2 0.1 0.1 1.1 10.4
ค่าเฉลี่ย 938 40.0 7.8 19.9 37.8 35.1 5.3 37.5 0.1 0.1 0.1 1.0 4.2

ที่มา : วารุณี และคณะ 2537


ตารางที่ 5 เปรียบเทียบผลผลิตน้ำหนักแห้งและวัตถุแห้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งของหญ้าแฝกหอมและ หญ้าแฝกดอน ที่อายุการตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์

  ผลผลิต (กก./ไร่) วัตถุแห้ง (% on dry basis)
  ฤดูฝน ฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูแล้ง
หญ้าแฝกหอม
หญ้าแฝกดอน
1118
1196
615
468
29.4
34.4
45.6
51.3

ที่มา : กลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์


2. โปรตีน หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมีปริมาณโปรตีนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 7% หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนที่มีโปรตีนสูงสุด คือ สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 และ สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 มีโปรตีน 8% ตามมาตรฐานอาหารสัตว์ ปริมาณโปรตีนในพืชอาหารสัตว์ไม่ควรต่ำกว่า 6.8% (สายัณห์) ดังนั้นหญ้าแฝกจึงมีปริมาณโปรตีนมากพอที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้
3. เยื่อใย หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมี NDF (ผนังเซลล์พืช) สูงถึง 80% ดังนั้น NDS ซึ่งเป็นส่วนประกอบภายในเซลล์พืช ได้แก่ แป้ง น้ำตาล โปรตีน ไขมัน ฯลฯ และสัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายจึงมีเพียง 20% เท่านั้น
เยื่อใยพวกเซลลูโลส ซึ่งเป็นเยื่อใยที่สัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ย สูงถึง 38% หญ้าแฝกหอมที่มีเซลลูโลสสูงสุด มี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์สงขลา 3 ศรีลังกา และ สุราษฏร์ธานี มีเซลลูโลส 39% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์นครสวรรค์ มีเซลลูโลส 40%
ส่วนเยื่อใยพวกเฮมิเซลลูโลส ซึ่งเป็นเยื่อใยที่สัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถใช้ประโยชน์ได้บางส่วนนั้น มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ยประมาณ 35% หญ้าแฝกหอมที่มีเฮมิเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์ศรีลังกา และ สงขลา 3 มีเฮมิเซลลูโลส 36% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีเฮมิเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์เลย และ ประจวบคีรีขันธ์ มีเฮมิเซลลูโลส 37%
สำหรับเยื่อใยพวกลิกนินซึ่งไม่มีสัตว์ชนิดใดสามารถใช้ประโยชน์ได้เลยนั้น มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ยประมาณ 5% หญ้าแฝกที่มีลิกนินสูงสุด คือ หญ้าแฝกหอม สายพันธุ์สุราษฏร์ธานี และหญ้าแฝกดอน สายพันธุ์นครสวรรค์ และกำแพงเพชร 1 มีลิกนินสูงถึง 6% พืชอาหารสัตว์ที่มีปริมาณลิกนินสูง จะมีผลทำให้การย่อยได้ของเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสลดต่ำลง (วรพงษ์, 2532) ดังนั้น สัตว์เคี้ยวเอื้องจึงใช้ประโยชน์จากเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสได้ลดลงด้วย
4. การย่อยได้ของวัตถุแห้ง (IVDMD) หญ้าแฝกหอมมีค่าการย่อยของวัตถุแห้งสูงกว่าหญ้าแฝกดอน โดยหญ้าแฝกสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งสูงสุด คือ 43% ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งอยู่ในช่วง 33-39% การที่สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งสูงสุด เป็นเพราะสายพันธุ์นี้มีวัตถุแห้งที่สัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้ คือ NDS และเซลลูโลส เป็นปริมาณมากนั้นเอง
5. แร่ธาตุ หญ้าแฝกมีธาตุแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่ำกว่าระดับความต้องการของสัตว์เคี้ยวเอื้องมาก หญ้าแฝกสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 เป็นหญ้าแฝกหอมที่มีปริมาณแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสสูงสุด คือ มีแคลเซี่ยม 0.3% และฟอสฟอรัส 0.2% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีแคลเซี่ยมสูง คือ สายพันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกำแพงเพชร 1 คือ มีประมาณ 0.2% ส่วนปริมาณฟอสฟอรัสในหญ้าแฝกดอน มีอยู่ในระดับเดียวกัน คือ 0.1% เนื่องจากธาตุคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน และกระตุ้นการทำงานของน้ำย่อยและเอ็นไชม์ต่าง ๆ ในร่างกาย (ทวี, 2527) ดังนั้น ในการใช้หญ้าแฝกเลี้ยงสัตว์ จึงต้องเสริมแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของสัตว์ด้
ธาตุแมกนีเซี่ยมมีในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนในระดับเดียวกันคือ 0.1% หญ้าแฝกที่มีปริมาณ แมกนีเซี่ยมสูงสุด คือ หญ้าแฝกหอมสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีแมกนีเซี่ยม 0.3% ส่วนหญ้าแฝกอีก 9 สายพันธุ์ มีแมกนีเซี่ยม 0.1%
ธาตุโปแตสเซี่ยม หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมีธาตุโปแตสเซี่ยมอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ โดยที่แต่ละสายพันธุ์มีธาตุนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 1%
6. สารพิษไม่พบกรดไฮโดรไซยานิคและสารไนไตรท์ทั้งในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนทุกสายพันธุ์ พบสารไนเตรทในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน ในปริมาณ 4 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ทั้งนี้ เพราะระดับของสารไนเตรทที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ จะต้องมีอยู่ในปริมาณที่สูงกว่า 300-400 ppm